“หอการค้าฯ” ชู 4 แนวทาง แก้ปัญหาภาคอุตฯ ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว รับผลกระทบ “โควิด”

“หอการค้าฯ” ชู 4 แนวทาง แก้ปัญหาภาคอุตฯ ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว รับผลกระทบ “โควิด”


นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศ และหอการค้าไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์แรงงานของไทยในปัจจุบันมาก เพราะโควิด-19 ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกลับประเทศหลายแสนคน และจนถึงขณะนี้ยังกลับมาไม่ได้มากนัก แม้ไทยควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้นแล้ว และผ่อนปรนการจ้างแรงงานต่างด้าว ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย ขาดแคลนแรงงานต่างด้าวอย่างหนัก

ดังนั้น จึงได้เข้าพบหารือพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการแรงงานทั้งชุด โดยได้นำเสนอประเด็นปัญหาเพื่อศึกษาปัญหาแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต เพื่อศึกษาและจัดทำแนวทางนโยบายการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานของไทยเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

– แนวทางของประเทศไทยต่อการรับสัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ที่ไทยอาจต้องเข้าร่วมเป็นภาคี หากไทยจะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีมาตรฐานสูงในอนาคต เช่น เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เป็นต้น แต่ขณะนี้ ไทยยังไม่มีท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้ จึงจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต้องร่วมศึกษาแนวทางการปฏิบัติ และจุดยืนของไทย เพื่อนำไปใช้ในการเจรจาในอนาคต

– การจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

– การจัดทำฐานข้อมูลแรงงาน (Big Data) ของประเทศไทย โดยการจัดทำข้อมูลด้านแรงงาน โดยการสำรวจความต้องการแรงงานในรูปแบบ Digital Platform  ที่สามารถ Matching ระหว่างสถานประกอบการกับแรงงาน

– การขอยื่นรับรองหลักสูตรของสถานประกอบการตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความเห็นชอบหลักสูตร รายละเอียดที่เกี่ยวข้องและรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานและการฝึกเปลี่ยนสาขาอาชีพ

โดยควรมีการศึกษาการแก้ไขปัญหาการขอยื่นรับรองหลักสูตรของสถานประกอบการ และพิจารณารับรองหลักสูตร e-Learning ในการรับรองหลักสูตรฯ พร้อมทั้ง จัดทำขั้นตอนเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการรับรองหลักสูตร และมาตรฐานของการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

“แม้แรงงานไทยว่างงานจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในตำแหน่งที่แรงงานต่างด้าวทำ โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมาก เช่น อาหารแปรรูป ถุงมือยาง อาหารและเกษตร จึงอยากให้ทุกหน่วยงานหาทางกระตุ้นให้แรงงานไทยที่ว่างงานอยู่มาทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น และสิ่งที่วิตกหากอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนใช้เครื่องจักรแทนคนทั้งหมด แรงงานไทยจะยิ่งตกงานมากขึ้น” นายพจน์ กล่าว

Back to top button