จับตา ครม.สัญจรภูเก็ต วันนี้ ถกมาตรการฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว ปลุกศก.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน

จับตา ครม.สัญจรภูเก็ต วันนี้ ถกมาตรการฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว ปลุกศก.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน


สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (3 พ.ย.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 ที่ จ.ภูเก็ต โดยจัดขึ้นที่โรงแรมสแปลช บีช รีสอร์ท ไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญจะเป็นผลการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) ที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมในช่วงเช้าวันนี้ก่อนการประชุม ครม.โดยจะพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ เช่น มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเหลือ 2% สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดเป็นเวลา 3 ปี, โครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก, แผนยุทธศาสตร์มาริไทม์ ฮับ เป็นต้น

พร้อมกันนั้น กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในภาพรวมให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงมาตรการการช่วยเหลือสายการบิน เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสินเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย

กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอมาตรการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นดิบชั้น 3 กำหนดประกันส่วนต่างที่ราคา 60 บาท/กก. น้ำยางข้น 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก. ใช้วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ 2 ทาง คือรายได้จากการขายยางพาราและรายได้จากส่วนต่างชดเชย โดยต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน

พร้อมกันนี้ จะเสนอการประกันราคาข้าวที่กำหนดวงเงินชดเชยส่วนต่าง 1,000 บาท/ไร่ กำหนดครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอรายงานความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กำลังอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินโครงการฯ ให้ครม.รับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในวันนี้ด้วย

ขณะที่ภาคเอกชนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้มีข้อเสนอผ่านหอการค้าไทย ในการให้รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ จ.ภูเก็ต และพื้นที่โดยรอบชายฝั่งอันดามัน มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อช่วยปลุกเศรษฐกิจชายฝั่งอันดามัน ซึ่งประกอบด้วย

1.แผนการขยายสนามบินนานาชาติ 70,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนต่อขยายสนามบินภูเก็ต 10,000 ล้านบาท และสนามบินนานาชาติพังงา 60,000 ล้านบาท

2.โครงการพัฒนารถไฟรางเบา ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มูลค่าการลงทุน 30,000 ล้านบาท

3.การพัฒนาอุโมงค์ทางลอดเชื่อมกระทู้-ป่าตอง แก้ไขปัญหารถติดและลดอุบัติเหตุ มูลค่า 9,000 ล้านบาท

4.โครงการพัฒนาภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเล (มารีน่าฮับ) มูลค่า 3,000 ล้านบาท

5.ศูนย์ดูแลสุขภาพ มูลค่า 5,000 ล้านบาท

รวมถึงข้อเสนอให้อำนวยความสะดวกด้านวีซ่าเข้าประเทศ สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาพำนักในไทยหลังเกษียณ โดยเสนอว่าควรขยายระยะเวลาวีซ่า จาก 3-6 เดือน เป็น 1-2 ปี ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ต่างชาติที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณในไทย มีการใช้จ่ายเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดได้อีกทาง

Back to top button