“สรท.” ปรับคาดการณ์ส่งออก ปี 63 หดตัวน้อยลง เหลือ -7% หลังแนวโน้มศก.-การค้าโลก ทยอยฟื้น
“สรท.” ปรับคาดการณ์ส่งออก ปี 63 หดตัวน้อยลง เหลือ -7% หลังแนวโน้มศก.-การค้าโลก ทยอยฟื้น
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ปรับคาดการณ์การส่งออกของไทยปี 63 ดีขึ้นมาเป็นหดตัวเหลือ -7% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ที่ -8% (กรอบ -10 ถึง -8%) เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์การส่งออกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว
ปัจจัยบวกสำคัญที่ทำให้ สรท.ประเมินว่าการส่งออกไทยปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเห็นได้จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจทั่วโลกที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากช่วงต้นปี เช่น IMF, World Bank รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนและสหรัฐ, ทิศทางการส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยกลุ่มสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ต่อเนื่อง เช่น ผัก-ผลไม้แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป, อาหารสำเร็จรูป, สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้ากลุ่ม work from home ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจในภาค real sector ที่เริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในทวีปยุโรป ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, International Logistics จากปัญหาขาดแคลนระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์สำหรับบรรจุสินค้าในหลายเส้นทาง, เงินบาทที่ทรงตัวอยู่ในระดับแข็งค่า จากแนวโน้มการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอการฟื้นตัว และแรงกดดันภายนอกจากความไม่แน่นอนของสหรัฐฯ ในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลัง, การนำเข้าที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าทุนที่มีแนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวค่อนข้างยาก และอาจชะลอตัวอย่างนี้ไปจนถึงต้นปี 64 เป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออกในระยะถัดไป
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออก ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้
1.เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า ในเรื่อง Thai Covid-19 Recovery
2.มาตรการช่วยเหลือด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในการปรับเพิ่มอัตราค่าระวางและค่าบริการภายในประเทศ ปัญหาปริมาณระวาง/ปริมาณตู้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเห็นว่ารัฐต้องศึกษาโครงสร้างของค่าบริการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศทั้งระบบ และอัตราการเรียกเก็บ เพื่อสามารถสะท้อนข้อเท็จจริงของโครงสร้างค่าใช้จ่ายของทั้งการส่งออกและนำเข้าทั้งหมด
3.ข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาโลจิสติกส์เร่งด่วน เช่น พิจารณาแก้ไขปัญหาการให้บริการและอัตราค่าบริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ในท่าเรือแหลมฉบัง, พิจารณายกเว้นการเรียกเก็บค่า Cargo Dues สำหรับเรือ Barge ที่ขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้า ระหว่างท่าเรือแหลมฉบังผ่านร่องน้ำสันดอนเจ้าพระยา
4.รักษาเสถียรภาพของเงินบาทให้อยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์
5.ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาช่วยเหลืออุตสาหกรรมส่งออกน้ำตาล จากกรณีที่เวียดนามเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ตามข้อเรียกร้องของสมาคมน้ำตาลและอ้อยเวียดนาม รวมทั้งผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ
6.ขอให้คงระดับการโค่นไม้ยางพาราไว้ที่ 4 แสนไร่ต่อปี ตามนโยบายเดิม หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายลดการโค่นไม้ยางพาราเหลือ 2 แสนไร่ต่อปี ซึ่งกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้
7.ขอผ่อนผันให้รถยนต์ที่ผลิตเพื่อการส่งออก สามารถวิ่งบนทางสาธารณะโดยไม่มีป้ายทะเบียน จากจุดพักรถในโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกได้