“อนุทิน” ตั้งเป้าปี 65 ยกระดับ “บัตรทอง” คนไทยต้องเป็น VIP ทุกรพ.ทั่วประเทศ
“อนุทิน” ตั้งเป้าปี 65 ยกระดับ “บัตรทอง” คนไทยต้องเป็น VIP ทุกรพ.ทั่วประเทศ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พัฒนาการทำงานมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในอดีต เมื่อครั้งมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค การรักษายังไม่ครอบคลุมสารพัดโรคเช่นปัจจุบัน แต่ได้มีการเพิ่มสิทธิ์เข้าไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าทุกนโยบายต้องอาศัยการพัฒนาต่อยอด และ 30 บาทรักษาทุกที่ ขอให้เป็นภาค 2 ของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
“30 บาทรักษาทุกที่ คนไทยต้องเป็น VIP ทุกโรงพยาบาล คือจุดกำเนิดของการขยายสิทธิ์บัตรทองออกไปใน 4 บริการหลักที่มักจะถูกตั้งคำถามในเรื่องของความยากในการปฏิบัติไปจนถึงขั้นที่บางคนบอกว่าทำไม่ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่า ถ้าเป็นงานที่ทำแล้วดี ย่อมสมควรทำ” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ได้พัฒนาสิทธิบัตรทองและเริ่มปฏิบัติไปบ้างแล้ว คือการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยปฐมภูมิ หรือผู้ป่วยด้วยโรคทั่วไปสามารถเข้ารับบริการในสถานบริการปฐมภูมิในสิทธิบัตรทองได้เลย นำร่องในพื้นที่ กทม.แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา และจะใช้ได้ทั่วประเทศในปี 65
ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มเติมการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว โดยนำร่องบริการแล้วที่ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ และ ชัยภูมิ
นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมีสิทธิ์เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ ที่มีความพร้อม และอยู่ในเครือข่ายการให้บริการ จะเริ่มในเดือน ม.ค.64 ถือเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งได้จัดหาเครื่องฉายรังสีเพิ่มเติม 7 เครื่อง ตามข้อเสนอของทีมแพทย์ มาติดตั้งตามโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว
“นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ มักจะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่สุดแล้ว ประชาชนจะไปใช้บริการแต่โรงพยาบาลใหญ่ เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา วิธีแก้คือ ทางกระทรวงจะขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลทั่วประเทศ จากนี้ จะไม่มีการพูดถึงเรื่องโรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลเล็ก แต่ต้องทำให้ทุกโรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลที่ดี” นายอนุทิน กล่าว
สำหรับแนวทางการพัฒนาการให้บริการในสิทธิ์บัตรทอง ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช.นั้น ประกอบไปด้วย 4 บริการหลัก คือ
1.ประชาชนเจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในระบบบัตรทอง ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” โดยเป็นการเริ่มที่บริการระดับปฐมภูมิ เบื้องต้นนำร่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งภาพรวมโครงสร้างของระบบบริการมีความพร้อมที่จะเดินหน้าได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร จะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับ มีการเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเติม จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน และมีระบบยืนยันตัวตนประชาชนในการรับบริการผ่านบัตรประชาชน ทั้งนี้จะเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 พ.ย.63 นี้
2.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว จากเดิมผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีส่วนหนึ่งต้องนอนรักษาต่อเนื่องด้วยสาเหตุทางการรักษา ซึ่งในกรณีที่ใบส่งตัวครบกำหนด ในการใช้สิทธิบัตรทองต่อเนื่อง ผู้ป่วยหรือญาติต้องกลับไปยังหน่วยบริการประจำเพื่อขอใบส่งตัวใหม่ เกิดความไม่สะดวกและเป็นปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัด ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกดูแลในกรณีนี้ สปสช.ได้ปรับระบบให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันทีตามการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่ต้องใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชนตรวจสอบตัวตนผู้ป่วย ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เขต 9 เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้ ส่วนใน กทม. และปริมณฑล จะเริ่ม 1 ม.ค.64 ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
3.โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม โดยโรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้อาการลุกลามและมะเร็งบางชนิดยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ด้วยขั้นตอนการส่งตัวผู้ป่วยสิทธิบัตรทองบางครั้งอาจเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ป่วยมะเร็งไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็ว
ดังนั้น สปสช. ได้ปรับระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งจะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการที่อื่นผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช. 1330, แอปพลิเคชัน สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะที่โรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อมเข้าร่วม ให้บริการตามโปรโตคอลรักษามะเร็ง บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) โดยค่าบริการให้ส่งข้อมูลเบิกจ่ายมายัง สปสช. ซึ่งได้มีการออกแบบการบริหารจัดการไว้แล้ว ทั้งนี้จะเริ่มในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.64
4.ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เป็นปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องมาระยะหนึ่ง ด้วยติดขัดการเข้ารับรักษาในช่วงของการเปลี่ยนหน่วยบริการที่ตามระบบกำหนดให้ต้องรอ 15 วัน แต่ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาก้าวหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยบริการ ทำให้ สปสช. สามารถปรับระบบแก้ปัญหาช่องว่างนี้ได้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันทีหลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ รวมถึงกรณีที่ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการเองผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. โดยหน่วยบริการสามารถพิสูจน์สิทธิและเบิกจ่ายค่าบริการผ่านบัตรประชาชน Smart card ทั้งนี้จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.64