ทำความรู้จัก! RT หุ้น P/E ต่ำ-กำไรสะสมแน่น ผลงานปี 63 “นิวไฮ” ปักหมุดเทรด 12 พ.ย.63

ทำความรู้จัก! RT หุ้น P/E ต่ำ-กำไรสะสมแน่น ผลงานปี 63 “นิวไฮ” ปักหมุดเทรด 12 พ.ย.63


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT จะเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก ในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง  หมวดธุรกิจ บริการรับเหมาก่อสร้าง

ทั้งนี้ RT กำหนดราคาเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 300 ล้านหุ้นที่ 1.92 บาท/หุ้น และเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย. ที่ผ่านมา

ด้าน นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ RT กล่าวว่า ราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่หุ้นละ 1.92 บาท พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) เท่ากับ  9.20 เท่า

โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.62 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 229.47 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 1,100 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 0.21 บาท ถือเป็นระดับราคาที่มีความน่าสนใจลงทุน เนื่องจากบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ทั้งโอกาสการเติบโตของธุรกิจ และมีความพร้อมในการขยายธุรกิจรองรับการเติบโตในอนาคต

อีกทั้ง RT มีกำไรสะสมที่ระดับ 220 ล้านบาท ซึ่งจะสนับสนุนให้สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามนโยบายการจ่ายปันผลที่ไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังจากหักสำรองต่าง ๆ  ดังนั้นจึงเชื่อว่าการเปิดจองหุ้น IPO จะได้รับความสนใจและมีกระแสตอบรับที่ดี

ทั้งนี้ ในปีนี้ RT จะมีกำไรสุทธิทำจุดสูงสุด (นิวไฮ) แน่นอน เนื่องจากในงวด  6 เดือนแรกสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 137.32 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 9.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เป็นผลจากโครงการในต้นปี 2563 ที่ยังมีกำไรขั้นต้นสูงในหลายโครงการใหญ่ๆ ทั้งโครงการในต่างประเทศและโครงการในประเทศ ซึ่งมากกว่าทั้งปีของปี 2562 ที่มีกำไร 130.66 ล้านบาท

ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายบริหารต่อรายได้พบว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารมีสัดส่วนลดลงในขณะเดียวกันบริษัทก็สามารถบริหารต้นทุนในโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้การบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น เนื่องจากมีเครื่องจักรบางรายการที่ตัดค่าเสื่อมราคาหมดแล้วแต่ยังใช้งานอยู่ในโครงการ และการลดลงของสัดส่วนของเงินเดือนสำนักงานต่อรายได้ลดลง และสัดส่วนค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลงส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว

ด้านนายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ RT เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเนื่องจากบริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษงานรับเหมาก่อสร้างด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิคที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ที่ปัจจุบันมีความสำคัญในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และยังมีการกระจายความเสี่ยงไปยังการรับงานในต่างประเทศเพิ่มเติม ทั้งในประเทศกัมพูชา ประเทศอินเดีย สปป.ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาช่วยหนุนการเติบโตของบริษัทอีกทางหนึ่ง

ขณะที่ความสามารถการทำกำไรของบริษัทในช่วงที่ผ่านมามีอัตรากำไรขั้นต้น 17-20% และมีอัตรากำไรสุทธิราว 9% และอนาคตมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากการเน้นการบริหารจัดการต้นทุน และได้เงินจากการระดมทุน IPO ช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงเหลือ 2.5 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 เท่า และมีโอกาสที่จะรับงานได้เพิ่มและมีขนาดใหญ่มากขึ้น จากปัจจุบันสามารถรับงานได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท/งาน

“เราอยากให้นักลงทุนฝากให้เป็นหุ้นปันผลที่นักลงทุนถือเพื่อลงทุนในระยะยาว เพราะเรามีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเรายังมีนโยบายการปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิด้วย” นายชวลิต กล่าว

อนึ่ง ทั้งนี้ RT เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษงานรับเหมาก่อสร้างด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิคที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ด้วยประสบการณ์มากถึง 20 ปี ส่งผลให้บริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านการทำงานอย่างมาก โดยแบ่งการให้บริการออกเป็น 5 ประเภท

ประกอบด้วย 1) งานก่อสร้างอุโมงค์และโครงสร้างใต้ดิน 2) งานก่อสร้างเขื่อน  3) งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 4) งานก่อสร้างท่อลอดใต้ดินด้วยวิธีดันท่อและวิธีเจาะและดึงท่อ และ 5) งานก่อสร้างด้านอื่น ๆ เช่น งานป้องกันและเสริมเสถียรภาพทางลาด งานขุดดินและหินทั้งแบบใช้ระเบิดและไม่ใช้ระเบิด งานเจาะสำรวจธรณีวิทยา งานปรับปรุงฐานรากด้วยวิธีอัดฉีดน้ำปูน งานถนนและสะพาน งานประตูระบายน้ำ และงานวางรางรถไฟ เป็นต้น

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนขายไอพีโอ บริษัทมีวัตถุประสงค์การใช้เงินใน 4 ส่วน ประกอบด้วย

1. ใช้ลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ จำนวน 10 ล้านบาท ในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำหรับใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบัน,

2. ใช้ลงทุนในเครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องมืออุปกรณ์ จำนวน 54 ล้านบาท ในปี 2563-2565, 3.ใช้ลงทุนในการก่อสร้างโรงซ่อมและอาคารเก็บวัสดุแห่งใหม่ จำนวน 10 ล้านบาท ในปี 2563-2564 โดยการก่อสร้างสินทรัพย์บนที่ดินที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทในปัจจุบัน และ 4.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 477.38 ล้านบาท ภายในปี 2564

โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563บริษัทมีงานในมือรอส่งมอบ (Backlog) อยู่ที่ประมาณ 4,280 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทยังมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับ 4.3 เท่า ซึ่งหลังจากขายหุ้นไอพีโอคาด D/E จะเหลือที่ระดับ 2.5 เท่า

Back to top button