PTG ดัน “แอตลาส เอ็นเนอยี” เข้าตลาดฯ ปี 64-65 ระดมทุนลุยธุรกิจก๊าซ LPG
PTG ดัน "แอตลาส เอ็นเนอยี" เข้าตลาดฯ ปี 64-65 ระดมทุนลุยธุรกิจก๊าซ LPG
นายสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด บริษัทลูกในเครือของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า เตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายปี 64 หรือต้นปี 65 นี้ หลังจากที่ PTG ได้แยกธุรกิจที่เกี่ยวข้องก๊าซ LPG ทั้งหมดออกมาเพื่อที่จะเป็นการลดการพึ่งพาเงินทุนจากบริษัทแม่และจะส่งผลให้บริษัทสามารถหาแหล่งเงินทุนได้ด้วยตัวเอง โดยบริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจออกจากบริษัท PTG นับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.62 และเสร็จสิ้นภายในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 63 ที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยดำเนินธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องก๊าซ LPG ใน 3 ส่วนหลัก คือ สถานีบริการก๊าซ LPG 200 สถานี แบ่งเป็นสถานีบริการที่มีทั้งจำหน่ายน้ำมัน และ จำหน่ายก๊าซ LPG 125 สถานีบริการ ในส่วนของการจำหน่ายก๊าซ LPG จำนวน 75 สถานีบริการ โดยในปี 64 บริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนสถานีบริการที่มีทั้งจำหน่ายน้ำมัน และ จำหน่ายก๊าซ LPG เพิ่มอีก 50-60 แห่ง
ส่วนธุรกิจที่ 2 คือ การจำหน่ายก๊าซ LPG สำหรับครัวเรือนที่ปี 64 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มร้านจำหน่ายแก๊สแอลพีจีสำหรับครัวเรือน ในสถานีบริการน้ำมัน PT จำนวน 100 สาขา จาก ณ สิ้นปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีร้านจำหน่ายก๊าซ LPG สำหรับครัวเรือน ทั้งหมด 100 สาขา รวมไปถึงการขยายจุดจำหน่ายก๊าซ LPG สำหรับครัวเรือนอีก 100 แห่ง จากสิ้นปีนี้ 100 แห่ง
ส่วนที่ธุรกิจที่ 3 คือ การให้บริการก๊าซ LPG โรงงานอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันอาจจะมีการชะลอตัวลงไปบ้างตามการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมและการผลิตหลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามหากภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวยอดขายในส่วนของอุตสาหกรรมก็จะฟื้นตัวขึ้นมาเช่นกัน
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าการจำหน่ายก๊าซ LPG ให้ขึ้นเป็นอันดับ 3 ของตลาด หรือมีปริมาณการขายที่ 380,000 ตัน ในปี 67 โดยปัจจุบันสัดส่วนยอดขายหลักมาจากสถานีบริการก๊าซ LPG ที่ 90% หรือมียอดขาย 80,000 ตัน หรือส่วนแบ่งการตลาดที่ 11.6% จากตลาดรวมที่ 700,000 ตัน ส่วนเหลืออีก 10% มาจากก๊าซ LPG สำหรับครัวเรือน 2,000 ตัน จากตลาดรวมที่ 2 ล้านตัน และก๊าซ LPG โรงงานอุตสาหกรรม 2,000-3,000 ตัน จากตลาดรวมที่ 600,000 ตัน
“จริงๆธุรกิจการจำหน่ายก๊าซ LPG มีมาร์จิ้นที่ดีกว่าการจำหน่ายน้ำมันด้วยซ้ำ แต่ส่วนใหญ่ที่เลิกทำเพราะว่าจำหน่ายเป็นขายส่งเพียงอย่างเดียวทำให้มาร์จิ้นต่ำ แต่เรามีทั้งสถานีบริการของตัวเอง และเรายังมีการขยายตลาดก๊าซ LPG สำหรับครัวเรือน รวมไปถึงก๊าซ LPG โรงงานอุตสาหกรรม ที่จะเข้ามาช่วยหนุนด้วย โดยจะเห็นว่าเรามีมาร์จิ้นสูงถึง 14-15% หลังจากนี้เรายังมีแผนการขยายตลาดผ่านกลุ่มสมาชิกผู้ที่ถือบัตรแมกซ์การ์ดของ PT ที่มีอยู่กว่า 13 ล้านสมาชิก ที่จะช่วยหนุนการเติบโตของเราได้อย่างรวดเร็ว” นายสุวัชชัย กล่าว