รัฐบาล กำชับทุกหน่วยรับมือฝุ่น PM 2.5 ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู หลังเช้านี้พบเกินค่ามาตรฐาน
รัฐบาล กำชับทุกหน่วยรับมือฝุ่น PM 2.5 ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู หลังเช้านี้พบเกินค่ามาตรฐาน
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 9 พ.ย. 63 เวลา 7.00 น.ว่า จากผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 71 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 27 -52 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ขณะที่ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. พบปริมาณฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐาน 1 พื้นที่ ได้แก่ ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม กทม. อยู่ที่ 52 มคก./ลบ.ม. โดยอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51-90 มคก./ลบ.ม)
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นและ PM 2.5 เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วย ซึ่งสาเหตุที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น การเผาพื้นป่า การเผาวัสดุทางการเกษตร ขณะที่พื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สาเหตุหลักมาจากการรถยนต์ดีเซลและการจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง บางขณะสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละออง ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ จำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อดำเนินงานร่วมกันในการเตรียมพร้อมในการรับมือปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมักจะมีความรุนแรงในช่วงการเปลี่ยนฤดู ดังนี้
1.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ประสานข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ และ Gistda จัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดเหตุ ตามกลไกพระราชบัญญัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 บังคับใช้กฎหมาย และเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” กำหนดสถานที่พักชั่วคราว หรือ Safety Zone แจ้งเตือนแนะนำข้อปฏิบัติตนแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัย
2.ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ เร่งระบายการจราจรไม่ให้ติดขัด ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตรวจสภาพ/บำรุงรักษายานพาหนะขนส่งสาธารณะ ทำความสะอาดพื้นผิวถนน รวมทั้งควบคุมการเผาในที่โล่ง/พื้นที่เกษตรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง เป็นต้น
3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพอากาศ ขยายเครือข่ายแจ้งเตือน จัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่ให้สอดคล้องกับหลักวิชาการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและปรับพฤติกรรมประชาชน ในการลดการเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และการเผาขยะในชุมชนหรือเมือง
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการทบทวนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อยกระดับความเข้มงวดของมาตรการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยเพิ่มเติมแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤต โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานตามหน้าที่อย่างเข้มข้น เร่งการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ควบคุมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า และการเกษตรด้วย