“จุรินทร์” เชื่อ “ไบเดน” นั่ง ปธน.สหรัฐ บรรยากาศการค้าโลกผ่อนคลาย-ทิศทางส่งออกไทยเป็นบวก

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เชื่อ “ไบเดน” นั่ง ปธน.สหรัฐ บรรยากาศการค้าโลกผ่อนคลาย-ทิศทางส่งออกไทยเป็นบวก


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พาณิชย์) เปิดเผยถึงกรณีที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า จากการติดตามนโยบายของนายไบเดน มาอย่างต่อเนื่อง พบว่านโยบายมีความแตกต่างกับของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในบางเรื่อง

โดยคาดว่านายไบเดน จะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ สหรัฐฯ จะกลับเข้ามาเจรจาความตกลงที่หุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯอาจทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ใหม่ๆ กับประเทศต่างๆ มากขึ้น รวมถึงอาจนำเอาเงื่อนไข เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา เข้าเป็นเงื่อนไขทางการค้า และนำมาเจรจาต่อรองทางการค้ามากขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า จากนโยบายการค้าของนายไบเดน ที่ผ่อนคลายมากขึ้น น่าจะทำให้บรรยากาศการค้าของโลกดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยดีขึ้นตาม โดยเฉพาะการทำสงครามการค้ากับจีนที่จะผ่อนปรนมากขึ้นนั้น อาจทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้จีนต้องนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยเพิ่มขึ้นด้วย หรือไทยอาจจะใช้เวทีการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี เพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น

“เรื่อง CPTPP คณะอนุกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้ มีข้อสรุปไปแล้วว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมปรับปรุงแก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อกังวล ทั้งเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช สิทธิบัตรยา และอื่นๆ ให้มีความพร้อมก่อน ซึ่งผมได้ให้ความเห็นไปแล้วว่า ไทยต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ส่วนประเด็นแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญานั้น ไม่กังวลอยู่แล้ว เพราะผู้ผลิตสินค้าไทยปรับตัว โดยผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่สหรัฐฯกำหนดได้อยู่แล้ว” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ระบุ

ส่วนเรื่องที่จะยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วก็ตาม คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน แต่อาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น, นโยบายอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโดแปซิฟิก และน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้, การใช้เงื่อนไขการให้ฝ่ายเดียวทางการค้า หรือสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐฯ น่าจะยังคงอยู่ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลการ (GSP) หรือการใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) และการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) แต่ขั้นตอนและรูปแบบอาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ต้องเดินหน้าทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดต่อไป ในรูปแบบคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อผลักดันการส่งออกของไทย ตลอดจนการร่วมมือกับอาเซียนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าร่วมกัน และปรับรูปแบบการเจรจาทางการค้าเป็น e-Commerce มากขึ้น โดยเฉพาะการนำสินค้าไทยเข้าไปในขายในแพลตฟอร์มสำคัญของสหรัฐฯ เช่น Amazon เป็นต้น

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 62 ที่ผ่านมา สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจาก อาเซียน จีน และญี่ปุ่น และในปี 2563 มูลค่าการค้าไทยสหรัฐ เดือนม.ค.-ก.ย. มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ดังนั้นจากลำดับที่ 4 มาเป็นลำดับที่ 2 รองจากอาเซียน ส่วนตัวเลขการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ 9 เดือนของปีนี้ มีมูลค่าการค้า 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 14.7% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยเป็นบวก 7.4% เฉพาะเดือนก.ย.63 เป็นบวกถึง 19.7% โดยมีสินค้า 4 กลุ่มหลักเป็นตัวสำคัญประกอบด้วย อิเล็คทรอนิกส์ อาหาร เครื่องตกแต่งบ้านของใช้ในบ้าน อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น

Back to top button