ZEN ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 40% สดใส รับวิถี “New Normal” หนุนผลงานทั้งปีเทิร์นอะราวด์
ZEN ตั้งเป้ารายได้ปี 64 โต 40% สดใส รับวิถี "New Normal" หนุนผลงานทั้งปีเทิร์นอะราวด์
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2564 เติบโต 40% แตะ 3,000 ล้านบาท และคาดมีอัตรากำไรสุทธิกลับมาเป็นบวกหลังจากปี 2563 ยังติดลบ โดยมีปัจจัยหนุนมาจากภาพรวมตลาดธุรกิจอาหารที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 7-10% ประกอบกับการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ของ ZEN ตั้งแต่ปีนี้ โดยเน้นบริการดิลิเวอรี่ คาดว่าจะทำให้สัดส่วนรายได้ดิลิเวอรี่ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 300 ล้านบาท จากปี 2563 จะอยู่ที่ 200 ล้านบาท เนื่องด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal ทำให้ดิลิเวอรี่เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น รวมถึงเชื่อมั่นว่าจะไม่เห็นการล็อกดาวน์ประเทศรอบ 2 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านมาก็น่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้ บริษัทวางงบลงทุนรวมในปีหน้าไว้ที่ 220 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงิน 120 ล้านบาทจะใช้ขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 70-100 สาขา และปรับปรุงสาขาเดิมให้ทันสมัย ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นปี 2564 บริษัทจะมีสาขารวมเพิ่มเป็นมากกว่า 400 สาขา จากปีนี้ราว 345 สาขา ขณะที่อีก 100 ล้านบาทจะใช้ในการทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ราว 2,300-2,500 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 3,144 ล้านบาท จากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์กระทบกับยอดขายของบริษัทถึง 2 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/63 ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นแล้ว โดยมีกำไรสุทธิ 45.5 ล้านบาท จึงมั่นใจว่า ZEN ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2/63 ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับ คล่องตัว และบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ขีดความสามารถการทำกำไรเพิ่มขึ้น
ขณะที่มองแนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/63 คาดว่ายอดขายจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 3/63 เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซีซั่นของธุรกิจ และมีวันหยุดมาก โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค.ที่มีเทศกาลขึ้นปีใหม่ คาดว่าจะมีอัตราการใช้บริการนั่งทานในร้านอาหารเพิ่มมาที่ระดับ 90-100% จากไตรมาส 3/63 อยู่ที่ระดับ 80-85%
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฯอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือร่วมลงทุน (JV) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น เพื่อขยายเมนูอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 1/64 โดยบริษัทกำหนดกลยุทธ์ด้วยการวางเป้าหมายเข้าทำ M&A อย่างน้อยปีละ 1-2 ดีลในลักษณะการเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า 50%
สำหรับแหล่งเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว บริษัทยืนยันมีกระแสเงินสดในมือเพียงพอราว 200-300 ล้านบาท/เดือน โดยไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าจะใช้เงินในการทำ M&A ประมาณรายละ 100 ล้านบาท