“อาคม” เล็งกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม ปีงบ 64 พร้อมเตรียมแผนรีดภาษีต่ำเป้า เก็บรายได้เข้ารัฐ
“อาคม” เล็งกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่ม ปีงบ 64 พร้อมเตรียมแผนรีดภาษีต่ำเป้า เก็บรายได้เข้ารัฐ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมสรรพากรว่า ในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรปีงบประมาณ 2564 นี้ รัฐบาลยังคงเป้าหมายไว้เท่าเดิมที่ 2.085 ล้านล้านบาท แต่หากจะไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะงบประมาณ 2564 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล สามารถกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลเพิ่มเติมได้หากรายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังก็ได้ดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบาย 3 เรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาต่อเนื่องอยู่แล้ว ได้แก่ 1. การขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้น โดยการชักชวนให้ผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษี 9 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีจริง 3 ล้านคน และเป็นผู้อยู่นอกระบบภาษีอีก 6 ล้านคน การขยายฐานภาษีถือว่ามีความสำคัญ เพราะการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรคิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ให้มีการขยายฐานภาษีนิติบุคคลด้วย
2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยให้นำเทคโนโลยีไปสู่การเก็บภาษีด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งกรมสรรพากรให้ความสำคัญเรื่องนี้และดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว
3.การปรับโครงสร้างภาษี ได้ขอให้กรมสรรพากรช่วยพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจหลังโควิด-19 โดยให้ประสานกับกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลออนไลน์
รมว.คลัง ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปประเมินการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันก็ได้ให้ไปดูตัวเลขรายจ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกร สำหรับสินค้าข้าว และยางพาราไปแล้ว และหลังจากนี้จะมีพืชอื่น ๆ ตามมาอีก ซึ่งถือเป็นรายจ่ายของรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มาประเมินว่าในปีงบประมาณ 2564 จะมีรายได้เพียงพอหรือไม่ หรือจำเป็นจะต้องกู้เพิ่มเติมอีกจำนวนเท่าไร
“การกู้เงินเพิ่ม จะเหมือนกับปีงบประมาณ 2563 เป็นการกู้กรณีที่รายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งยังเหลือช่องว่างกู้ได้อีกเท่าไรนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูอยู่ โดยจะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่ารายจ่ายของรัฐบาลจะไม่ช็อตแน่นอน” นายอาคม กล่าว
รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) ได้อนุมัติตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมอบหมายให้ตนเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อเร่งรัดและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในไตรมาส 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 64 ให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในประเทศให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากการเปิดการท่องเที่ยวยังต้องอาศัยเวลา
ในส่วนงบรายจ่ายประจำที่ต้องเร่งเบิกจ่าย ได้แก่ รายจ่ายเพื่อการประชุม สัมมนา จะประสานให้มีการดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นจังหวัดท่องเที่ยว โดยจะหารือกับสำนักงบประมาณให้เพิ่มงบในส่วนนี้ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อีก เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว และการใช้เงินในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินในส่วนนี้สะพัดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเร่งการเบิกจ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผน และให้มีการเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว เพราะเศรษฐกิจไทยต้องการการกระตุ้นในระยะสั้นควบคู่ไปกับระยะยาว โดยขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยปีนี้ดีขึ้นเป็น -7.1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ -7.7% ขณะที่กระทรวงการคลังปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้อยู่ที่ -7.7% จากคาดการณ์เดิม -8.5% ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะแถลงสัปดาห์หน้านั้น ก็คาดว่า GDP มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
“กำลังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศยังไม่เพียงพอ ต้องมีการเร่งการใช้จ่ายให้มากขึ้นในไตรมาส 1 และ 2 ของปีงบประมาณ 2564” นายอาคม กล่าว
นายอาคม ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ว่า กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกำชับให้ดูแลนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว มีการติดลบน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ แต่มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านการคลังต่าง ๆ ก็ยังมีความสำคัญ ทั้งเรื่องการช่วยเหลือ SMEs การลดอัตราดอกเบี้ย และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก