BJC เจอพิษ “โควิด-19” ฉุดยอดขาย-รายได้ กดกำไรไตรมาส 3 ลดลง 40% มาที่ 1.06 พันลบ.
BJC เจอพิษ "โควิด-19" ฉุดยอดขาย-รายได้ กดกำไรไตรมาส 3 ลดลง 40% มาที่ 1.06 พันลบ. จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 1.77 พันลบ. ขณะที่งวด 9 เดือน กำไรลดลง 45% มาที่ 2.65 พันลบ. จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนมีกำไร 4.8 พันลบ.
บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/63 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. ดังนี้
โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีกำไรลดลง เนื่องจากยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค อยู่ที่ 1,953 ล้านบาท ลดลง 287 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.8% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากยอดขายที่ลดลง ทั้งจากกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และกลุ่มเทคนิค จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และฐานเปรียบเทียบที่สูงของปีก่อน เนื่องจากการบันทึกยอดขายจากโครงการกับกลุ่มลูกค้าโรงพยาบาลที่บันทึกในไตรมาส 3/62 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/63 ยอดขายลดลงเล็กน้อยที่ 5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/63
อีกทั้งรายได้รวมของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 277,024 ล้านบาท ลดลง 4,224 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนโดยมาจากรายได้จากการขายสินค้า อยู่ที่ 23,899 ล้านบาท ลดลง 3,375 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.4% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากอัตราการเติบโตของยอดขายต่อสาขาเดิมที่ลดลง อยู่ที่ร้อยละ -17.8 ในไตรมาส 3/63 (ยอดขายต่อสาขาเดิม เมื่อไม่รวมยอดขายสินค้าบีทูบีอยู่ที่ -18.3% ในไตรมาส 3/63) เนื่องจากการใช้จ่ายผู้บริโภคที่อ่อนตัวจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
รวมถึงการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ส่งผลกระทบต่อสาขาในกลุ่มท่องเที่ยว ขณะเดียวกันรายได้ค่าเช่าและค่าบริการสถานที่และรายได้อื่น เท่ากับ 3,125 ล้านบาท ลดลง 848 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเนื่องจากการให้ส่วนลดค่าเช่ากับผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนอัตราการเช่าได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 91 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/63 รายได้รวมลดลง 1,038 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักเนื่องจากผลกระทบจากการขายตามฤดูกาลที่กระทบต่อรายได้จากการขายสินค้า ที่ลดลง 1,799 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.0 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าเช่าและค่าบริการสถานที่และรายได้อื่น มีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 761 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 32.2 จากไตรมาสก่อนเนื่องจากการฟื้นตัวของทั้งรายได้ค่าเช่าและรายได้อื่น