ไทยจับมืออาเซียน+5 ลงนาม RCEP ตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก ผนึกกำลังหวังฟื้นฟูศก.

ไทยจับมืออาเซียน+5 ลงนาม RCEP ตั้งเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก ผนึกกำลังหวังฟื้นฟูศก.


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ร่วมการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล

หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยมีผู้แทนจาก 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้าร่วมลงนามความตกลงดังกล่าว ซึ่งถือเป็นกลุ่มความตกลงทางการค้า การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1 ใน 3 ของโลก และมีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก โดยในส่วนของไทยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์เป็นผู้ลงนาม

โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนามความตกลง RCEP คือ จะสามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือ 1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น 2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ 3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์ 4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น และ 5.การค้าปลีก

ทั้งนี้ สิ่งที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการที่จะเตรียมตัวและปรับตัวเพื่อให้เข้ากับข้อตกลงการค้าการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก RCEP นั้น คือจะต้องเร่งศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะหลังจากลงนามวันนี้ แต่ละประเทศจะต้องนำไปให้สัตยาบันโดยผ่านกระบวนการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องผ่านที่ประชุมสภาฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในกลางปีหน้า โดยในการมีผลบังคับใช้จะต้องมีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศอื่น 3 ประเทศ แจ้งให้สัตยาบัน ความตกลงก็สามารถบังคับใช้ได้เลย

สำหรับประเทศอินเดียเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ร่วมลงนามครั้งนี้ แต่ก็ยังหวังว่าอินเดียจะสามารถเข้ามาร่วมได้ต่อไปในอนาคต เมื่ออินเดียได้ประเมินว่าสถานการณ์มีความเหมาะสมกลุ่มประเทศ RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสำหรับ 15 ประเทศนี้ก็ถือว่าใหญ่มากแล้วเพราะครอบคลุม GDP ถึง 1 ใน 3 ของโลกถือว่าเป็นความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

          “ได้มีความพยายามตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาจนสามารถประสบความสำเร็จในการเจรจาทั้งหมดในวันนี้ โดยเมื่อปีที่แล้วตอนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ผมในฐานะรัฐมนตรีการค้าของไทยเป็นประธานในที่ประชุมซึ่งก่อนหน้านั้นเจรจามา 7 ปีแล้วแต่สามารถเจรจาได้เพียง 7 บท จนไทยสามารถผลักดันการเจรจาได้ครบทั้ง 20 บท” นายจุรินทร์ กล่าว

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปผลการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 ว่า นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ระบุว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังรายงานผลความสำเร็จของการเจรจาและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง RCEP ร่วมกับผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตจำนงที่จะลงนามในความตกลง RCEP โดยยินดีที่ได้เห็นถึงความพยายามของประเทศสมาชิกในการเจรจาร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งความตกลง RCEP ถือเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ และจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม RCEP ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ โดยทราบดีว่าประเทศสมาชิกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความอ่อนไหวที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ และล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคและประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนต่อไป

อนึ่ง ในเวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรีจะได้เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 โดยในพิธี นายกรัฐมนตรีเวียดนามจะได้กล่าวถ้อยแถลง และส่งมอบค้อนประธานอาเซียนให้แก่ เอกอัครราชทูตบรูไนประจำเวียดนาม และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ซึ่งจะทรงกล่าวถ้อยแถลงตอบต่อไป

Back to top button