“ส.ว.” ส่งซิกปัดตกร่างแก้ รธน. iLaw แต่ชี้ช่อง ยกไอเดียนวัตกรรมเลือกตั้ง ประกอบแปรญัตติ

“ส.ว.” ส่งซิกปัดตกร่างแก้ รธน. iLaw แต่ชี้ช่อง ยกไอเดียนวัตกรรมเลือกตั้ง ประกอบแปรญัตติ


นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ (17 พ.ย.63) ว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับที่จะเริ่มขึ้นในวันนี้ มีแนวโน้มว่าฝ่ายวุฒิสภาจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และ 2 ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่มีสาระสำคัญคือการแก้ไขมาตรา 256 ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนฉบับที่ 4-6 คงปล่อยให้ ส.ว.แต่ละคนมีอิสระในการพิจารณา

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนนำเสนอมา หรือฉบับ iLaw มีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านการพิจารณารับหลักการ แม้ว่าเบื้องต้นจะเห็นด้วยกับเนื้อหา แต่เมื่อพิจารณาบางจุดแล้วพบว่าหากรับหลักการไปอาจมีปัญหา เรียกว่าเป็นปัญหาเรื่องนิติวิธีการทางกฎหมายมากกว่าเนื้อหา เพราะหากรับหลักการไปแล้ว แต่ในขั้นแปรญัตติของกรรมาธิการไม่สามารถตัดเนื้อหาที่อาจมีปัญหาออกไปได้ เช่น การยกเลิกองค์กรอิสระ ก็อาจจะทำให้เกิดช่องโหว่อย่างน้อย 7-8 เดือนกว่าจะมีกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของ iLaw แล้วก็พบว่ายังมีข้อดีมากพอสมควร ซึ่งในขั้นกรรมาธิการสามารถหยิบยกจุดดีของฉบับ iLaw มาประกอบการแปรญัตติได้ โดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ต่าง ๆ ที่เป็นจุดแปลกกว่าของฉบับอื่น เช่น นวัตกรรมการเลือกตั้ง ส.ว. และ ส.ส.ร. ที่ให้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง เป็นต้น

“ถ้านอกสภาไม่ได้มีจิตใจที่อคติเกินไป ร่าง 1-2 ก็ครอบคลุมแล้ว เราพิจารณากฎหมายจากเหตุผล เบื้องต้นได้มีการคุยกันในชั้นเบื้องต้นว่าทั้งสามร่าง รวมของไอลอว์ แต่เมื่อดูแล้วถ้ารับหลักการร่างของไอลอว์แล้ววาระ 2 แปรญัตติตัดออกไปก็จะขัดกับหลักการ ก็ทำไม่ได้ เช่นการตัดองค์กรอิสระ เกิดช่องโหว่ 7-8 เดือน เมื่อรับหลักการแล้วจะไปแก้เหล่านี้ไม่ได้ เป็นเรื่องนิติวิธีทางกฎหมายมากกว่าเนื้อหา ถ้าดูแค่เนื้อหาก็รับได้อยู่แล้ว” นายวันชัย กล่าว

Back to top button