PRIME โชว์ 9 เดือนกำไรโต 256 ลบ. รุกพลังงานสะอาด ตั้งเป้า 1,000MW ใน 5 ปี
PRIME โชว์ 9 เดือนกำไรโต 256 ลบ. รุกพลังงานสะอาด ตั้งเป้า 1,000MW ใน 5 ปี
นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยและโลกถดถอยอย่างต่อเนื่อง แต่ผลประกอบการของบริษัทฯ กลับมีทิศทางที่สวนกระแส โดยผลประกอบการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้รวมสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 เท่ากับ 567.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มี EBITDA เท่ากับ 431.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ เท่ากับ 255.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน
“สำหรับฐานะทางการเงิน บริษัทฯ มีสินทรัพย์จำนวน 5,731.41 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8.6% จากเมื่อสิ้นปี 2562 โดยแบ่งเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 2,814.97 และหนี้สินรวม 2,916.44 ล้านบาท ทำให้มีอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) เพียง 1.03 เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน จึงเป็นโอกาสดีที่จะจัดหาเงินทุนระยะยาวเพิ่มเติมมาลงทุนขยายธุรกิจ
โดยบริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้หลายอย่าง เช่น การกู้ยืมจากสถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้ เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เริ่มหารือกับสถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งแล้ว แต่ยังเปิดโอกาสให้รายอื่นๆ เข้ามาเสนอแนะแนวทางเพิ่มเติมอีก เพื่อจะได้เลือกวิธีที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำและเป็นประโยชน์กับบริษัทฯ มากที่สุด”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันฯ รายได้หลักของบริษัทเกือบทั้งหมดมาจากธุรกิจการขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในงวด 9 เดือนของปี 2563 นี้ มีรายได้รวม 522.11 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 92% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ และเติบโตขึ้น 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการที่ประเทศไต้หวันที่เริ่มขายไฟในเดือนเมษายน ปี 2562 บาท ทั้งนี้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดมีการทำสัญญาผลิตและขายไฟฟ้า (PPA) ให้กับหน่วยงานของรัฐบาลประเทศชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดรวม 292 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น
โดยเป็นโครงการที่ดำเนินการขายไฟแล้ว 180 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 112 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 133.2 เมกะวัตต์ ประเทศญี่ปุ่น 68.2 เมกะวัตต์ ประเทศไต้หวัน 12.2 เมกะวัตต์ และประเทศกัมพูชา 78 เมกะวัตต์ โดยถ้าคาดการณ์จากตัวเลขของปีก่อน โครงการที่ขายไฟแล้วจะทำรายได้ทั้งหมดในปีนี้ราว 700 ล้านบาท”
“นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ขยายธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีก 3 ธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นได้อย่างประสบความสำเร็จ และเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3 ปี 2563 นี้ ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ธุรกิจขายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา และธุรกิจจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงาน”
นายสมประสงค์ เปิดเผยต่ออีกว่า ส่วนธุรกิจใหม่ธุรกิจแรกที่ได้เปิดเผยแผนการดำเนินงานไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ ธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop EPC) ที่ได้ความร่วมมือกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มากกว่า 10 ปี ในนามของบริษัท ไพร์ม อัลเทอร์เนทีฟ วิชั่นส์ จำกัด เพื่อให้บริการติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาครบวงจร
ตั้งแต่การสำรวจออกแบบ ดำเนินการติดตั้ง ไปจนถึงการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยให้อาคารหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง สามารถลดการซื้อไฟฟ้าจากส่วนกลางได้ ทำให้ธุรกิจหรือองค์กรที่ติดตั้งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตอนนี้มีโครงการรอการสำรวจและออกแบบติดตั้งกว่า 30 โครงการ ปัจจุบันมีโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และโครงการที่กำลังจะทำสัญญารวมมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท โดยภายในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าจะทำสัญญาให้ได้มูลค่ารวม 300 ล้านบาท โดยได้เริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสนี้แล้ว
“ธุรกิจใหม่ที่สอง คือ ธุรกิจขายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop Private-Power Purchase Agreement (PPA)) ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ต่อยอดจากการขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเป็นการเสนอทางเลือกพิเศษให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพและสนใจที่จะให้เราลงทุนระบบให้ จากนั้นเราจะขายไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่าอัตราค่าไฟที่ลูกค้าซื้อจากรัฐในราคาปกติ ซึ่งตอนนี้เราได้ทำสัญญาฉบับแรกกับ บริษัท ไผ่สิงห์ทอง จำกัด เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจฟาร์มสุกรชั้นนำของประเทศ ทางฟาร์มมีอัตราการใช้ไฟสูงตลอดเวลาทุกวัน ระบบของเราจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับฟาร์ม ช่วยให้ฟาร์มได้ลดต้นทุนการผลิตได้”
และธุรกิจใหม่สุดท้ายที่เปิดตัวในไตรมาส 3 นี้ คือ ธุรกิจจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงาน (Power-related Material and Equipment Trading) เป็นการต่อยอดจากธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ทั้งสอง เนื่องจากบริษัทฯ ต้องจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาจำนวนมาก
ประกอบกับการเป็นที่รู้จักและมีเครือข่ายความร่วมมือในวงการพลังงานทดแทนอย่างกว้างขว้าง จึงเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่นี้ขึ้นมา โดยบริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจนี้จากลูกค้าระดับองค์กรขนาดใหญ่ในช่วงเริ่มต้นนี้ก่อน ในขณะเดียวกันก็ศึกษาและวางแผนเพื่อเปิดตลาดกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยในช่วงต่อไป
ทั้งนี้สินค้าที่บริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจครอบคลุมกลุ่มวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลงชีวมวล และระบบจัดการพลังงานของอาคารและที่อยู่อาศัย เป็นต้น บริษัทฯ คาดว่า ธุรกิจนี้จะทำให้เกิดการประสานพลังและใช้ประโยชน์จากต้นทุนการดำเนินงานเดิมของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดกำไรสูงสุดอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสมประสงค์ กล่าว
นายสมประสงค์ กล่าวอีกว่า โลกกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) กำลังขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นผ่านเป้าหมายต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาถึงจุดอิ่มตัว ในทางกลับกันก็ทำให้อุตสาหกรรมพลังสะอาดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทฯ มุ่งมั่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ จึงตั้งเป้าให้จะลงทุนเพิ่มเติม ขยายกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตติดตั้งจากทุกโครงการรวมกันแล้วมากกว่า 300 เมกะวัตต์ ให้เพิ่มเป็นมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี
“สำหรับการขยายธุรกิจ บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์ ‘Go Local’ มุ่งพัฒนาโครงการใหม่ในประเทศ ซึ่งตอนนี้กำลังเตรียมพร้อมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐ และยังลุยซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่จ่ายไฟแล้วเข้ามาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อเสริมความแกร่งของพอร์ตบริษัทฯ อีกด้วย ฉะนั้นหากเจ้าของโครงการท่านไหนมีโครงการที่ดีต้องการเสนอขาย ก็สามารถติดต่อมาที่บริษัทฯ ได้ นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ ‘Go Inter’ ที่มุ่งขยายการลงทุนไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ทั้งในประเทศที่ลงทุนไปแล้ว อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน และกัมพูชา และประเทศใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และพม่า เป็นต้น นอกจากนี้ ชัยชนะของคุณโจ ไบเดน ผู้ที่ผลักดันนโยบายด้านพลังงานสะอาดมาโดยตลอด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา ยังทำให้ตลาดอเมริกาได้เข้ามาอยู่ในความสนใจของบริษัทฯ อีกด้วย”
ส่วนในปี 2563 นี้บริษัทฯ ยังได้เริ่มใช้กลยุทธ์ Digital Transformation เพื่อพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล นำระบบ Objectives and Key Results (OKR) ที่ใช้โดยองค์กรระดับโลกอย่าง Google เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างจริงจัง และยังสนับสนุนให้พนักงานมีจิตวิญญาณผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Spirit) เปิดทางให้ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาระบบจัดการพลังงาน (Energy Management System) ที่จะมีการ บูรณาการนวัตกรรม IoT, AI และ Blockchain เป็นต้น ทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งเติบโตสู่บริษัทพลังงานสะอาดชั้นนำ สามารถทำกำไรไปพร้อมกับการพัฒนาให้โลกดีขึ้น และยังสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นตลอดไป