ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ต.ค. ฟื้น รับปัจจัยบวก จีดีพี หดตัวน้อยลง-มาตรการรัฐช่วยหนุน
ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ต.ค. ฟื้น รับปัจจัยบวก จีดีพี หดตัวน้อยลง-มาตรการรัฐช่วยหนุน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 364 ตัวอย่าง ในเดือนต.ค.63 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 33.2 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.5
ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ใหม่ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ -7.7% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ที่ -8.5%, รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือน ต.ค.นี้ ได้แก่ สถานการณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา, ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม, ความกังวลจากสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้าไทยเพิ่มเติม อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, การส่งออกของไทยเดือนก.ย. 63 ลดลง -3.86 และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าประเทศไทย และผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
– กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 33.8 โดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวภายใน ประเทศที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ภาคบริการต่าง ๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช็อปดีมีคืน ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย, ความวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิด รอบ 2 ที่อาจจะกลับมาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และกำลังซื้อยังคงไม่กลับมา
– ภาคกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 33.4 โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการเกษตรเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก และภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจากพายุที่เคลื่อนตัวเข้ามาในประเทศไทย, สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย จากอิทธิพลพายุ, หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และการจ้างงานน้อยลง
– ภาคตะวันออก
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 37.4 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ มาตรการภาครัฐในการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเพาะปลูก และการให้ความช่วยเหลือด้านราคาสินค้าของเกษตรกร, อุตสาหกรรมการผลิตอาหารขยายตัวจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันหยุด ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มเข้ามาจากการเปิดรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ, ความกังวลหรือการต่อรองการลดชั่วโมงการทำงาน, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่เข้ามา และระดับรายได้ของประชาชนยังไม่ปกติ
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 32.3 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มดีขึ้นส่งผลให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายมากขึ้น และค่อยๆ กลับเข้าสู่สภาวะปกติ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ความกังวลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ซึ่งสร้างความเสี่ยงในการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยอีกครั้ง, สถานการณ์น้ำท่วมในบางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลกระทบต่อประชาชน, หนี้ภาคครัวเรือนที่ขยับสูงขึ้น และแรงงานยังคงตกงาน
– ภาคเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 33.2 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช้อปดีมีคืน ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับเหตุชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากใกล้ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของภาคเหนือ, การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากชายแดนของไทย และหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น
– ภาคใต้
ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 30.2 โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ ความต้องการไม้ผลเพิ่มขึ้นและทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันปาล์มดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้พลังงานไบโอดีเซลภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวยังคงไม่ฟื้นตัวเนื่องจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศ แม้จะเริ่มเปิดให้มีนักท่องเที่ยวกลุ่มแรก Special Tourist Visa (STV), ผลผลิตลดลงจากภาวะฝนตกชุก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยางพารา และทำให้เกษตรกรชะลอการเก็บปาล์มน้ำมัน และการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1.มาตรการช่วยเหลือธุรกิจส่งออกโดยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน พร้อมลงทุนในสิ่งใหม่ ๆ ให้มีความต่อเนื่อง
2.รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าไทย นอกจากนี้ผลักดันการส่งออกไปตลาดอื่น โดยเฉพาะตลาดจีนเพราะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวหลังจากโควิด-19
3.มาตรการกระตุ้นกำลังการซื้อของประชาชนในประเทศให้เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากหยุดนิ่งไปจากสถานการณ์โควิด-19
4.จัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือให้กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น มีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุขให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น