TTA คาดไตรมาส 4 กำไรปกติโตต่อ รับธุรกิจขนส่งทางเรือสดใส
TTA คาดไตรมาส 4 กำไรปกติโตต่อ รับธุรกิจขนส่งทางเรือสดใส
นายจิเทนเดอร์ พอล เวอร์มา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส และประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าไตรมาส 4/63 จะยังมีกำไรสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาส 3/63 ที่มีกำไรสุทธิ 50.8 ล้านบาท ตามทิศทาง 3 ธุรกิจหลัก ทั้งธุรกิจขนส่งทางเรือ, ธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง และธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธุรกิจขนส่งทางเรือเติบโตจากความต้องการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น, ธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง คาดอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/63 ที่มีอัตราอยู่ที่ 92% เนื่องด้วยเรือทั้ง 3 ลำกลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ จากก่อนหน้านั้นต้องกักเรือไว้ระยะหนึ่งหลังจากส่งเข้าอู่แห้งตามข้อบังคับของการเดินเรือ และธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรก็ยังดีต่อเนื่อง
ขณะที่มองแนวโน้มในปี 64 ธุรกิจขนส่งทางเรือยังสดใส โดยคาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าแห้งเทกองจะเติบโต 4% และเมื่อเทียบปริมาณกับระยะทางจะเติบโตขึ้น 4.4% จากปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 โดยเป็นการฟื้นตัวกลับมาชดเชยปี 63 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ประกอบกับ ทิศทางดัชนีค่าระวางเรือ BDI ในไตรมาส 3/63 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 1,522 จุด จากไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 783 จุด สะท้อนความต้องการสินค้าแห้งเทกองที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาประเทศจีนก็มีการนำเข้าสินแร่เหล็กมากขึ้น ส่วนสหรัฐฯและบราซิล ก็มีการส่งออกถั่วเหลืองมากขึ้นด้วย
ส่วนอัตราการเติบโตของภาพรวมกองเรือทั่วโลกในปี 64 คาดจะเติบโต 1.5% จากปีนี้ ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับความต้องการขนส่งสินค้าแห้งเทกองที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการสั่งต่อเรือใหม่ก็อยู่ในระดับเพียง 7% ของกองเรือโลก ทำให้โดยรวมคาดว่าไตรมาส 4/63 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 64 รายได้ธุรกิจขนส่งทางเรือยังมีความแข็งแกร่งอยู่
สำหรับธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง บริษัทคาดว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ในปี 64 และมีกำไรได้หลังจากนั้น จากการขายหุ้นในบริษัทร่วม เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่งค์ จำกัด (AOD) ทั้งหมด 33.76% เป็นเงินสดจำนวน 331 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินจำนวน 981.4 ล้านบาทในไตรมาส 3/63 ที่ผ่านมา โดยบริษัทดังกล่าวดำเนินธุรกิจขุดเจาะ ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ซึ่งภายหลังจากการขายธุรกิจดังกล่าวจะทำให้ผลประกอบการในอนาคตของ TTA ปรับตัวดีขึ้น โดยเงินที่ได้จากการขายเกือบ 1,000 ล้านบาทจะนำไปเป็นเงินทุนสำรองให้กับกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งเพื่อใช้ในงาน IRM หรืองานตรวจสอบและซ่อมบำรุงต่อไป
ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งจะหันมามุ่งเน้นในส่วนของธุรกิจวิศวกรรมใต้ทะเล ซึ่งธุรกิจดังกล่าวไม่ได้อ่อนไหวต่อราคาน้ำมันมากนัก และยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เห็นได้จากประเทศซาอุดิอาระเบียมีแผนจะลงทุน 4.4 แสนล้านเหรียญฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า, ประเทศกาตาร์ ก็มีแผนลงทุนอยู่ 2.7 หมื่นล้านเหรียญฯ และแอฟริกาตะวันตก มีแผนลงทุนราว 1.23 แสนล้านเหรียญฯ รวมถึงประเทศโมซัมบิก ก็มีแผนลงทุนราว 4.7 หมื่นล้านเหรียญฯ โดยกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งของ TTA ก็มีแผนรองรับเข้าไปเจาะตลาดที่มีแผนการลงทุนดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรืออยู่ในระดับที่ดีไปอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบอยู่ที่ 179 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีธุรกิจวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลที่คาดว่าจะสามารถทำกำไร หรือเทิร์นอะราวด์ได้ในระยะสั้นนี้