“ผู้ว่าฯ ธปท.” ยันไม่นิ่งนอนใจ เร่งหามาตรการดูแลบาทแข็งค่าเร็ว ห่วงกระทบผู้ส่งออก

“ผู้ว่าฯ ธปท.” ยันไม่นิ่งนอนใจ เร่งหามาตรการดูแลบาทแข็งค่าเร็ว ห่วงกระทบผู้ส่งออก


นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเหมาะสมมาดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ธปท.เข้าไปดูแลเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทุนสำรองทางการระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก ก็เป็นผลจากการดำเนินการดังกล่าวด้วย

โดยวานนี้ (18 พ.ย.63) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า กังวลเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งเป็นผลจากนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ธปท. ย้ำว่า ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อภาวะเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งการที่ไม่เห็นว่า ธปท.ออกมาชี้แจงว่าจะดำเนินมาตรการใดมาตรการหนึ่งนั้น ไม่ได้แปลว่า ธปท.ไม่ได้ทำอะไรเลย โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่ผ่านมาคือ นโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำสุดในภูมิภาคแล้ว นอกจากนี้ ธปท.ยังได้เข้าไปแทรกแซงและดูแลค่าเงินบาท ที่จะเห็นได้ว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากการที่ ธปท.เข้าไปซื้อดอลลาร์ เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท

“เหล่านี้ สะท้อนว่าเราไม่ได้อยู่นิ่งๆ และการที่ ธปท.มีทุนสำรองเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปดูแลค่าเงิน มันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ ธปท.พึงประสงค์ที่จะทำ” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

พร้อมระบุว่า เหตุที่ ธปท.มีความกังวลต่อภาวะเงินบาท เนื่องจากถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติ การแข็งค่าของค่าเงินอาจไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อยอดส่งออกมากนัก แต่ขณะนี้ที่เห็นชัดเจนคือ ค่าเงินบาทกระทบต่อมาร์จิน ซึ่งในจังหวะนี้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบมาก จากภาวะที่ดีมานด์หายไป ปัญหาหนี้สิน รวมถึงสายป่านที่สั้นในธุรกิจขนาดเล็ก และมีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและคุณภาพสินเชื่อตามมา

“เราห่วงเป็นพิเศษในรอบนี้ เพราะมาจากข่าววัคซีนที่จะออกมา เพราะคนคาดหวังว่าเมื่อวัคซีนออกมาแล้ว คนจะกลับมาท่องเที่ยว และจะกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น…ซึ่งข่าวที่ออกไปแล้ว ค่าเงินบาทแข็งไปแล้ว แต่สุดท้ายหากนักท่องเที่ยวไม่มา ก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา เพราะการฟื้นตัวของเรายังเปราะบาง นี่จึงเป็นที่มาที่ กนง.มีความเป็นห่วง” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ

Back to top button