“อาคม” มั่นใจ ศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง หลัง S&P คงอันดับน่าเชื่อถือ-จีดีพี ไตรมาส 3 ดีกว่าคาด
“อาคม” รมว.คลัง มั่นใจ ศก.ไทยฟื้นต่อเนื่อง หลัง S&P คงอันดับน่าเชื่อถือ-จีดีพีติดลบน้อยกว่าคาด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท S&P Global Ratings (S&P) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยืนยันคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ หนี้รัฐบาลอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล และสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การยืนยันคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย และการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของ S&P ครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อการฟื้นฟูและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไป หลังจากในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจาก GDP ไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ -6.4% ต่อปี และหากเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 ขยายตัวได้สูงถึง 6.5% (QoQ_SA) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
สำหรับทั้งปี 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวที่ -6.0% ต่อปี เป็นการปรับประมาณการดีขึ้นจากเดือนส.ค.63 ที่คาดว่าจะหดตัว -7.5% ต่อปี ขณะที่เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับเข้มแข็งสะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย.63 อยู่ที่ 49.4% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการออกมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
นายอาคม กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะถัดไป กระทรวงการคลังจะมุ่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้รักษาระดับการจ้างงานภายในประเทศ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป