“คลัง” เร่งสรุป “คนละครึ่ง” เฟส 2 ชงเข้า “ศบศ.” ต้น ธ.ค.นี้ ตั้งเป้าเก็บกลุ่มตกหล่นรอบแรก

“กระทรวงการคลัง” เร่งสรุป “คนละครึ่ง” เฟส 2 ชงเข้า “ศบศ.” ต้น ธ.ค.นี้ ตั้งเป้าเก็บกลุ่มตกหล่นรอบแรก คาด 14-15 ล้านคน


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอขยายเวลามาตรการคนละครึ่ง เฟส 2 เข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาจำนวนผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ที่มาแย่งกันลงทะเบียนผ่านระบบของธนาคารกรุงไทย โดยกระทรวงการคลังมีเป้าหมายที่จะเก็บตกกลุ่มตกหล่นให้ครบ จากกลุ่มที่ลงทะเบียน 10 ล้านคนในรอบแรก

  “กระทรวงการคลังขอเวลาไปพิจารณาตัวเลขกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิ อาจจะเป็น 14-15 ล้านคนก็ได้ โดยได้สั่งให้กรุงไทยไปดูตัวเลขของคนที่เข้ามาลงทะเบียนพร้อมกันใน 3 รอบที่เปิดรับลงทะเบียนว่ามีปริมาณสูงสุดเท่าไหร่ ตอนนี้วงเงินกู้จาก พ.ร.ก.โควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทยังเหลือก็จะนำมาใช้ในส่วนนี้ โดยจะเสนอพร้อมกันกับมาตรการอื่นๆ เป็นแพ็คเกจเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่” นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ การขยายอายุมาตรการคนละครึ่ง เฟส 2 ก็จะลากยาวให้พ้นช่วงเทศกาลตรุษจีนออกไปอีก แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะยาวถึง 3 เดือนหรือไม่ ซึ่งในหลักการจะเป็นการต่อเวลาออกไป และเป็นการให้เงินรอบใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะให้ถึง 3,000 บาทเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะส่วนที่เหลือจากรอบแรกที่ใช้ไม่ทันภายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ อาจจะไม่ได้ถูกนำไปรวมกับรอบใหม่

นอกจากนี้ รมว.คลังยังได้สั่งการให้ไปดำเนินการตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ไปดูแลกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการของรัฐอีก 14 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งว่าจะมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร โดยเบื้องต้นจะมีการเสนอเพิ่มสวัสดิการให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ เช่น การให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติม ไปพร้อมกับการเสนอมาตรการคนละครึ่งเฟส 2 เข้าที่ประชุม ศบศ. เป็นแพ็คเกจ

อย่างไรก็ดี มาตรการคนละครึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนให้มาใช้สิทธิในมาตรการนี้ ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่ามาตรการช้อปดีมีคืน ดังนั้น การขยายมาตรการคนละครึ่ง เฟส 2 ออกไปอีก คนที่เข้าร่วมมาตรการช้อปดีมีคืนก็จะไม่สามารถเข้าร่วมคนละครึ่ง เฟส 2 ได้เหมือนเดิม

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/63 จะฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3/63 ก่อนจะฟื้นตัวเป็นบวกได้ราว 3-4% ในปี 64 จากแรงสนับสนุนสำคัญในเรื่องความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลไทย และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทย รวมถึงความชัดเจนในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่จะส่งผลดีกับภาคการท่องเที่ยวของไทยในระยะต่อไปนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยกลับเข้ามา โดยทั้งหมดยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับการดำเนินนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปของกระทรวงการคลังจะเน้นเรื่องการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วยการรักษาระดับการจ้างงาน แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงการคลังจะมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือในหลายด้านผ่านมาตรการด้านภาษีและสินเชื่อต่าง ๆ แล้ว รวมถึงจะเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

“กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ลืมเรื่องวินัยทางการเงินและการคลัง ซึ่งยืนยันว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ของรัฐบาลในขณะนี้เป็นการดำเนินการที่ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการเงินการคลัง และรัฐบาลพร้อมจะดำเนินการในทุกเรื่องเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน โดยเชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงการคลังจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาได้” นายกฤษฎา กล่าว

Back to top button