ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เน้นยืดหยุ่น-ทันสมัยรองรับเทคโนโลยีใหม่

ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เน้นยืดหยุ่น-ทันสมัยรองรับเทคโนโลยีใหม่


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ให้มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และไม่เป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการระดมทุน การซื้อขาย การชำระราคา และการส่งมอบหลักทรัพย์

โดย ก.ล.ต.อยู่ระหว่างเสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ในประเด็นต่างๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น ทันสมัย และไม่เป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติ และให้รองรับรูปแบบใหม่ ๆ ของการระดมทุน การซื้อขาย การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแข่งขัน  รวมทั้งปรับปรุงการกำกับดูแลในเรื่องเดียวกันให้มีความสอดคล้องกัน เพิ่มประสิทธิภาพ และมีการคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ซึ่งสรุปเป็นสาระสำคัญ ดังนี้

(1) การแก้ไขเพื่อรองรับการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยปรับปรุงบทนิยามของ “หลักทรัพย์” ในมาตรา 4 ให้ยืดหยุ่นและครอบคลุมถึงสินทรัพย์อื่น ๆ ที่มีลักษณะ (substance) เหมือนหรือคล้ายกับหลักทรัพย์ และปรับปรุงถ้อยคำในมาตราต่าง ๆ ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์แบบดิจิทัล

(2) การแก้ไขในประเด็นศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ โดยปรับปรุงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง คุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาต การประกอบธุรกิจ และการเลิกศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ โดยศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์จะรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์และโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงคุณสมบัติของกรรมการ ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชีและศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการ

(3) การแก้ไขเพื่อเพิ่มความชัดเจนในการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ฝากหรือลูกค้าของผู้ฝากหลักทรัพย์กรณีศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ล้มละลาย และเพิ่มความชัดเจนในสิทธิความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ของผู้ฝากหลักทรัพย์หรือลูกค้าของผู้ฝากหลักทรัพย์

(4) การแก้ไขเพื่อยกระดับการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นมาตรฐานสากล โดยให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดเกณฑ์ประกอบธุรกิจเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อบรรลุภารกิจและความคาดหวังตามกฎหมาย รวมถึงลงโทษเมื่อฝ่าฝืนกฎเกณฑ์หรือคำสั่ง

(5) การแก้ไขเพื่อยกระดับการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีที่ตรวจสอบงบการเงินของตลาดหลักทรัพย์และศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และต้องสังกัดในสำนักงานสอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีดังกล่าวต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน หรือลูกจ้างของตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี

(6) การแก้ไขเพื่อขยายขอบเขตมาตรการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้ครอบคลุมการซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกช่องทางการซื้อขาย (trading platform/venue)

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้เสนอปรับปรุงบทบัญญัติในพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีความสอดคล้องกับบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=674 ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected], [email protected], [email protected], [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563

 

 

 

Back to top button