“นายกฯ” ถกสภาธุรกิจสหรัฐฯ ชวนลงทุนในไทย หลังวิกฤต “โควิด” คลี่คลาย
“นายกฯ” ถกสภาธุรกิจสหรัฐฯ ชวนลงทุนในไทย หลังวิกฤต “โควิด” คลี่คลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 พ.ย.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี เริ่มการประชุมด้วยการทักทายนักธุรกิจสหรัฐฯ ในประเทศไทย และผู้ที่ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference โดยระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์อันดีมายาวนานเกือบ 200 ปี และหวังรักษาให้ความสัมพันธ์นี้มีความยั่งยืนสืบไป ในฐานะเพื่อนเก่าและมิตรประเทศที่มีความสำคัญกับไทยและอาเซียน
พร้อมชื่นชมเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ที่มีบทบาทอย่างแข็งขัน ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย จะมีการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น
“ในวันนี้เป็นการพบกัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงใจที่มีระหว่างกัน จึงขอเชิญชวนนักลงทุน ทั้งที่ได้ลงทุนในไทยแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสินใจ ให้พิจารณาประเทศไทยด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นรูปแบบการประชุมกึ่งออนไลน์ ที่มีทั้งประชุมผ่านระบบทางไกลจากสหรัฐอเมริกาและในไทย รวมถึงผู้ที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง โดยมีผู้บริหารและผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วม จำนวน 89 คน จาก 38 บริษัท 8 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ พลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สุขภาพ วิทยาศาสตร์ อาหารและการเกษตร การผลิตและภาษี การบริการทางการเงิน การท่องเที่ยว และการคมนาคม เพื่อหารือแนวทางการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในอนาคต ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย รวมทั้งส่งเสริมให้นักธุรกิจสหรัฐมาลงทุนในไทยมากขึ้น และผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาคอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ภายหลังร่วมประชุมกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ที่กระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวว่า รัฐบาลไทยและสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน มีความเห็นตรงกันที่จะมีการปรับเปลี่ยนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไทยได้เตรียมการไว้ก่อนหน้านี้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทั้งการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และการยกระดับฝีมือแรงงาน
โดยวันนี้ได้หารือกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์, กลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, กลุ่มยาสูบ, กลุ่มอุตสาหกรรม, กลุ่มพลังงาน, กลุ่มโลจิสติกส์และบริการ, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา, กลุ่มประกันภัย และกลุ่มบริษัทเครดิต ซึ่งทั้งหมดประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตนได้เชิญชวนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยให้สอดคล้องกับโลกในยุคดิจิทัล
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ขอบคุณและชื่นชมที่สหรัฐฯ ลงทุนกับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และได้ให้ความมั่นใจในศักยภาพ เสถียรภาพ และความเข้มแข็งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งสหรัฐฯ ยินดีที่จะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องใน 3 ด้านด้วยกัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือเหล่านี้ได้ ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย และการผลิตยาและวัคซีนต้านโควิด-19 2.ด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ด้วยการสร้างความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานสินค้า และ 3.ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต การฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในสาขาใหม่ๆ และการพัฒนาทักษะภาษา
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวชื่นชมทุกบริษัทที่ล้วนเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะให้ความร่วมมืออำนวยความสะดวกอย่างดีที่สุด และย้ำไทยให้ความสำคัญโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมขยายการลงทุน ยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นสนใจเพื่มการลงทุนในไทย และที่ EEC อย่างต่อเนื่อง
ด้านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมต่อการลงทุน หากมีการเอื้ออำนวยและส่งเสริมสภาวะแวดล้อมที่ดีต่อการลงทุน ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการลงทุนอย่างยิ่งในโลก พร้อมกล่าวชื่นชมการรับมือกับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของไทย ที่ประสบสำเร็จและได้รับการยอมรับเป็นที่ประจักษ์
ขณะที่ประธาน USABC กล่าวชื่นชมการจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนของสหรัฐฯ โดยไทยเป็นตลาดการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูอาเซียนภายหลังโรคโควิด-19 ทั้งนี้ USABC ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแสวงหาความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข การสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค และการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยินดีร่วมมือกับไทยในการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงและราบรื่น พร้อมหวังว่าประเทศไทยจะเปิดเสรีในการเดินทางข้ามพรมแดนมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว ขณะที่นักลงทุนได้มีการเสนอให้ไทยมีการพัฒนาแหล่งพลังงาน เพื่อนำไปสู่การจ้างงานอีกจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเดินหน้าไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และเสนอให้ไทยพัฒนาอาคารประหยัดพลังงาน