“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ ต.ค. หด 0.54% ลุ้นมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย ดัน พ.ย.พลิกบวก
“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ต.ค.63 หด 0.54% ลุ้นมาตรการกระตุ้นใช้จ่าย ดันพลิกบวก พ.ย.
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.63 อยู่ที่ระดับ 95.72 ลดลง -0.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือน ก.ย.63 ที่หดตัว -2.15% ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.63) ลดลง -10.33%
ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 63.2% ลดลงเล็กน้อยจาก 63.46% ในเดือน ก.ย.63 ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.63) อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.44%
โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีฯ ในเดือน ต.ค.63 มาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้น 8.45%, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 6.07% และการแปรรูปผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้น 19.98% ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวลดลง -3.32%, เครื่องแต่งกาย ลดลง -17.21% และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นหรือแช่แข็ง ลดลง -14.14%
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือน พ.ย.63 ได้แก่ 1.มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการช้อปดีมีคืน 2.ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยในเดือน ต.ค.63 ขยายตัว 12.42% ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัว 12.2% และ 3.การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือน ต.ค.63 หดตัวลดลงเหลือเลขหลักเดียว สะท้อนถึงสัญญาณที่ดีต่อการผลิตในระยะต่อไป
ดังนั้น สศอ.จึงคาดว่า MPI จะพลิกกลับเป็นบวกในเดือน พ.ย.63 ราว 0-2% และในเดือน ธ.ค.63 จะเป็นบวกราว 2-4%
ทั้งนี้ สศอ.คาดการณ์ว่า MPI ในปี 63 จะหดตัว -8.0% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะหดตัว -7.0% ภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30-35 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะที่ MPI ในปี 64 คาดว่าจะขยายตัว 4.0-5.0% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4-5% ภายใต้สมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-32 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์/บาร์เรล