“สธ.” ชี้ “โควิด” เชียงใหม่-เชียงราย” โอกาสแพร่เชื้อต่ำ หนุนใช้กม.เข้ม ลักลอบเข้าเมือง
"สธ." ชี้ "โควิด" เชียงใหม่-เชียงราย" โอกาสแพร่เชื้อต่ำ หนุนใช้กม.เข้ม ลักลอบเข้าเมือง
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 เพศหญิงอายุ 29 ปี จังหวัดเชียงใหม่ ว่า มีทั้งหมด 328 ราย เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 107 ราย ตรวจแล้ว 69 ราย ไม่พบเชื้อ (คอนโดผู้ป่วย 2 ราย คอนโดเพื่อน 2 ราย สถานบันเทิง 55 ราย ห้างสรรพสินค้า 6 ราย รถโดยสารปรับอากาศเชียงใหม่ 1 ราย และคนขับรถ Grab Car 3 ราย) สัมผัสเสี่ยงต่ำ 149 ราย ตรวจแล้ว 83 ราย ไม่พบเชื้อ (สถานบันเทิง 2 ราย ห้างสรรพสินค้า 25 ราย บุคลากรโรงพยาบาลเอกชน 9 ราย และคอนโดผู้ป่วย 47 ราย)
ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างรอผลการตรวจและติดตาม โดยทั้งหมดยังต้องกักกันและเฝ้าระวังอาการจนครบ 14 วัน ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ชุมนุมชนทุกแห่ง ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และการสแกนไทยชนะ หากสถานประกอบการ/ ร้านไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจะถูกดำเนินการอย่างเคร่งครัด รวมถึงการสั่งปิดกิจการชั่วคราว
สำหรับผู้ติดเชื้อ 2 รายที่จังหวัดเชียงราย เป็นหญิงไทยอายุ 26 ปี และ 23 ปี ทำงานในสถานบันเทิงในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เป็นเพื่อนร่วมงานกับหญิงอายุ 29 ปีติดโควิด 19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยลักลอบเดินทางเข้าทางช่องทางธรรมชาติอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีผู้สัมผัส 27 ราย
โดยแบ่งเป็นสัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย คือหญิงไทยอายุ 23 ปีที่เดินทางกลับมาด้วยกัน โดยวันที่ 29 พฤศจิกายน มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก เมื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อโควิด 19 ถูกนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล พนักงานโรงแรมที่ขับพาไปร้านสะดวกซื้อ 1 ราย รถจักรยานยนต์รับจ้างจากหมู่บ้านไปอำเภอแม่สาย 1 ราย ทั้งคู่รอผลตรวจเชื้อ ส่วนรถจักรยานยนต์รับจ้างที่พาไปอำเภอเมือง 1 ราย ไม่พบเชื้อ
นอกนั้นที่เหลือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 23 ราย คือบุคลากรทางการแพทย์ 20 ราย และชุมชน 3 ราย คือ แม่ค้าร้านอาหาร/ร้านขายของชำ พนักงานร้านสะดวกซื้อ และพนักงานโรงแรม ทั้งนี้ ถือว่ามีโอกาสแพร่เชื้อต่ำ เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในโรงแรมที่พักและไปโรงพยาบาลเร็ว ทำให้มีผู้สัมผัสน้อย
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงรายได้กำหนดมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ชุมชน เฝ้าระวังช่องทางเข้าออก โดยจัดระเบียบการขนส่งและสุ่มตรวจพนักงานขับรถชาวเมียนมา กำหนดมาตรการรองรับผู้กลับมาจากประเทศเมียนมา โดยเตรียมสถานที่กักกันโรคที่ราชการกำหนด กักกันอย่างน้อย 14 วัน สื่อสารให้ผู้ที่ลักลอบมาจากต่างประเทศเข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองและรักษา โดยให้รายงานตัวกับ อสม. รพ.สต. หรือผู้ใหญ่บ้าน และสำรวจจำนวนคนไทยในฝั่งท่าขี้เหล็กและต้องการกลับประเทศ เพื่อเตรียมการดำเนินการรับกลับอย่างปลอดภัย และดำเนินการกับผู้นำพาคนลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างมาก ทำให้คนไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอยากเดินทางกลับเข้ามาในประเทศ จึงขอให้กลับเข้ามาในช่องทางที่ถูกต้องเพื่อเข้ารับการกักตัว 14 วัน นอกจากไม่ผิดกฎหมายแล้ว หากพบการติดเชื้อจะได้รับการรักษา ไม่ทำให้เชื้อแพร่ไปสู่คนในครอบครัวและชุมชน
และขอฝากให้ประชาชนพื้นที่ชายแดนช่วยกันเป็นหูเป็นตา โดยเฉพาะเจ้าของบ้าน คอนโด โรงแรม โรงงาน และสถานบันเทิง หากพบคนไทยหรือคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ผ่านการกักตัว 14 วัน ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว และย้ำให้ประชาชนยังคงสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และสแกนไทยชนะ ซึ่งทำให้สามารถติดตามผู้สัมผัสได้ง่ายขึ้น