สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ธ.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ธ.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮ ขานรับรายงานที่ว่านายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะหารือกันเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รวมทั้งข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งเกินคาดของจีน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,823.92 จุด เพิ่มขึ้น 185.28 จุด หรือ +0.63% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,662.45 จุด เพิ่มขึ้น 40.82 จุด หรือ +1.13% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,355.11 จุด เพิ่มขึ้น 156.37 จุด หรือ +1.28%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมีความหวังว่าความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วขึ้น
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวขึ้น 0.65% ปิดที่ 391.90 จุด
ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,581.64 จุด เพิ่มขึ้น 63.09 จุด หรือ +1.14%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,382.30 จุด เพิ่มขึ้น 91.14 จุด หรือ +0.69% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,384.73 จุด เพิ่มขึ้น 118.54 จุด หรือ +1.89%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับจีนเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ซึ่งเพิ่มความหวังเกี่ยวกับการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นของเศรษฐกิจโลกหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,384.73 จุด เพิ่มขึ้น 118.54 จุด หรือ +1.89%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุม เนื่องจากมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 79 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 44.55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2563
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 46 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 47.42 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2563
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนช้อนซื้อหลังจากราคาทองคำดิ่งลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับความไม่แน่นอนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 38 ดอลลาร์ หรือ 2.13% ปิดที่ 1,818.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.497 ดอลลาร์ หรือ 6.63% ปิดที่ 24.09 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. พุ่งขึ้น 38 ดอลลาร์ หรือ 3.93% ปิดที่ 1,003.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 23.80 ดอลลาร์ หรือ 1% ปิดที่ 2,429.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และหันไปซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่นยูโรและปอนด์ หลังมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.61% แตะที่ 91.3154 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9006 ฟรังก์ จากระดับ 0.9065 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2936 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2962 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 104.40 เยน จากระดับ 104.33 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2047 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1947 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3416 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3343 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7364 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7352 ดอลลาร์สหรัฐ