“กกร.” หนุนรัฐพยุงผู้ประกอบการโรงแรม ออกซอฟต์โลน-ช่วยจ่ายเงินเดือนพนง. 50%

“กกร.” หนุนรัฐพยุงผู้ประกอบการโรงแรม ออกซอฟต์โลน-ช่วยจ่ายเงินเดือนพนง. 50%


นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมโรงแรมไทยได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน ธ.ค.63 โดยขอให้ภาครัฐพิจารณาข้อเสนอ 2 มาตรการ

1.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับกรณีหนี้คงเหลือเดิมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2% พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งขอวงเงินสนับสนุนเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจไทย อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินรายละ 60 ล้านบาท/โรงแรม ในอัตราดอกเบี้ย 2% ปลอดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี  เมื่อครบกำหนดแล้วให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์ หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอ ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อย (บสย.) หรือรัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งกองทุนค้ำประกัน และไม่จำกัดสิทธิสำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท

2.มาตรการสนับสนุนเงินเดือนค่าจ้าง 50% Co-payment เพื่อรักษาการจ้างงาน สนับสนุนให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจ้างพนักงานเดิมจำนวน 200,000 คน (จำนวนไม่เกิน 30% ของจำนวนพนักงานปัจจุบัน) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี

กกร.ยังหารือถึงการใช้แอปพลิเคชันด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจร อาทิ จองโรงแรม ที่พักภายในประเทศ จองตั๋วเครื่องบิน และร้านอาหาร ซึ่งขณะนี้มีแอปพลิเคชัน TAGTHAi (ทักทาย) โดยเป็นแอปพลิเคชัน ที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ประชุม กกร. จึงเห็นควรสนับสนุนและร่วมมือกัน โปรโมท ต่อยอดให้มีการใช้แอปพลิเคชัน TAGTHAi อย่างแพร่หลาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาการท่องเที่ยวให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น กกร.ได้มีการหารือเรื่อง ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าอย่างรุนแรง  โดยคาดว่าปัญหาจะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 2/64  ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าระวางเรือ และต้นทุนสินค้าของประเทศไทยด้วย  โดย กกร.มีข้อเสนอ ดังนี้

1.การแก้ปัญหาระยะสั้น เสนอให้สมาคมผู้ส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ ประสานเจรจากับสายเดินเรือต่างๆ โดยตรง เพื่อจัดทำสัญญาการใช้บริการ (Service Contract) ที่ระบุข้อตกลงในเรื่องค่าระวางเรือและการจัดสรรระวางเรือและจำนวนตู้สินค้าที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย

2.ส่งเสริมให้สายเดินเรือนำเรือแม่ขนาดใหญ่ของเส้นทางหลัก เช่น สายเอเชีย-ยุโรป สายเอเชีย-อเมริกา สายเอเชีย-ตะวันออกกลาง ฯลฯ เข้ามาเปิดบริการวิ่งตรง (Direct call service) ที่ท่าเรือแหลมฉบังให้มากขึ้น โดยเสนอให้กรมเจ้าท่า ปรับปรุงกฎระเบียบการนำร่องเรือเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบังที่ได้จำกัดความยาวเรือตลอด  ไว้ที่ 300 เมตร ให้เพิ่มขึ้นเป็น 400  เมตร

3.ขอเสนอให้ภาครัฐ สนับสนุนส่งเสริมการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาในประเทศไทย โดยการปรับลดอัตราค่าภาระขนถ่ายและค่าภาระหน้าท่าสำหรับการนำเข้าตู้เปล่า เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามา ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้สายการเดินเรือนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาเก็บไว้ในประเทศไทยมากขึ้น และยังจะช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจการบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศไทยอีกด้วย

Back to top button