“ศบศ.” ไฟเขียว “คนละครึ่ง” เฟส 2 อีก 5 ล้านสิทธิ-เพิ่มเงินบัตรคนจน 500 บ. 3 เดือน

“ศบศ.” ไฟเขียว “คนละครึ่ง” เฟส 2 อีก 5 ล้านสิทธิ-เพิ่มเงินบัตรคนจน 500 บ. 3 เดือน


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงผลการประชุมศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการที่สำคัญหลายเรื่อง ได้แก่

1.มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่สอง รูปแบบการดำเนินการเช่นเดียวกับระยะแรกที่ภาครัฐจะร่วมจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้ (1) เปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิเพิ่มอีก 5 ล้านคน วงเงินคนละ 3,500 บาท โดยผู้ที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการคนละครึ่งระยะที่หนึ่งเนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายภายใต้โครงการภายในวันที่กำหนดยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการระยะที่สองได้ มีกำหนดวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.64 พร้อมกับเพิ่มวงเงินผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่หนึ่งอีกคนละ 500 บาท ขยายระยะเวลาใช้สิทธิถึงวันที่ 31 มี.ค.64

2.มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับผู้ถือบัตร500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.64

3.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว

-ปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน (1) ปรับปรุงขอบเขตการใช้สิทธิจำนวนการจองห้องพักจากเดิมประชาชนจองที่พักได้ไม่เกิน 10 คืน (Room night) ต่อ 1 สิทธิ เพิ่มเป็น 15 คืนต่อ 1 สิทธิ (2) ขยายช่วงเวลาการจองที่พัก จากเวลา 06.00-21.00 น. เป็นเวลา 06.00-24.00 น. (3) เพิ่มจำนวนห้องพักในโครงการจากเดิม 5 ล้านคืน เป็น 6 ล้านคืน ทั้งนี้จำนวนห้องที่เพิ่มมาจะสนับสนุนเฉพาะ E-voucher แต่ไม่อุดหนุนเรื่องค่าที่พัก (4) ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิโครงการถึง 30 เม.ย.64 (5) เพิ่มโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตฯ แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ (6) อนุมัติให้ธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว สามารถใช้ระบบคูปองออนไลน์ (E-Voucher) ได้ ประกอบด้วย ธุรกิจการขนส่งภาคท่องเที่ยว ธุรกิจสปาหรือนวดเพื่อสุขภาพ (7) ปรับปรุงเกณฑ์สนับสนุนค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากเดิมรัฐสนับสนุน 40% แต่สูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เป็นสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อ 1 สิทธิ เฉพาะการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดที่ภาคท่องเที่ยวพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ประกอบด้วย ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ และเชียงราย และ (8) กำหนดหลักเกณฑ์การลาสำหรับข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และพนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้ 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลาเมื่อใช้สิทธิในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

– ปรับปรุงโครงการกำลังใจ (1) เปิดให้บริษัทนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดิมของโครงการ (2) บริษัทนำเที่ยวที่กรอกรายการนำเที่ยวไม่ครบ 15 รายการ สามารถกรอกเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้หากกรอกครบ 15 รายการแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก และ (3) ระยะเวลาที่จะเปิดให้สมัครเข้าร่วมโครงการและกรอกรายการนำเที่ยวภายในวันที่ 15 ธ.ค.63

– เห็นชอบโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป และจะต้องเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยมีระยะเวลาของโปรแกรมการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 3 วัน 2 คืน และเดินทางท่องเที่ยวได้เฉพาะวันธรรมดา (เข้าพักในวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี) ค่าใช้จ่ายต่อโปรแกรมไม่น้อยกว่า 12,500 บาท/คน/โปรแกรม และรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนำเที่ยวในลักษณะร่วมจ่ายคนละ 5,000 บาท สำหรับบริษัทนำเที่ยวที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องจดทะเบียนดำเนินธุรกิจก่อนวันที่ 1 ม.ค.63 ทั้งนี้บริษัทนำเที่ยวแต่ละรายสามารถรับนักท่องเที่ยวผ่านโครงการได้ไม่เกิน 3,000 ราย ระยะเวลาการดำเนินการ 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้ามาตรการคนละครึ่ง ระยะที่หนึ่ง มีร้านค้าลงทะเบียนร่วมโครงการคนละครึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-1 ธ.ค.63 จำนวน 892,375 ร้าน แบ่งเป็น กิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ 543,812 ร้าน กิจการที่รอดำเนินการตรวจสอบ 158,917 ร้าน และกิจการไม่เข้าข่ายเงื่อนไขของโครงการ 7,012 ร้าน

ประเภทของกิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จ แบ่งเป็น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 305,644 ร้าน ร้านธงฟ้า 45,054 ร้าน ร้าน OTOP 16,236 ร้าน และร้านค้าทั่วไป 176,878 ร้าน โดยแบ่งเป็นหน้าร้าน 431,690 ร้าน และหาบเร่แผงลอย 112,122 ร้าน โดยเป็นกิจการอยู่ในภาคกลาง 357,919 ร้าน ภาคใต้ 171,148 ร้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 157,228 ร้าน ภาคเหนือ 86,589 ร้าน ภาคตะวันออก 79,854 ร้าน และภาคตะวันตก 39,637 ร้าน

ขณะที่มีประชาชนลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 9,565,702 ราย ใช้สิทธิแล้ว 9,525,572 ราย ได้สิทธิแล้วแต่ยังไม่ใช้ 40,130 ราย ปัจจุบันมียอดใช้จ่ายรวม 33,487.3 ล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายจากส่วนประชาชน 17,101.0 ล้านบาท และรัฐช่วยจ่าย 16,386.3 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 182 บาทต่อคน โดยประเภทของร้านค้าที่มียอดการใช้จ่ายมากที่สุด ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็นสัดส่วน 35% ร้านค้าทั่วไป 33% ร้านธงฟ้า 23% และร้านค้า OTOP 9% ของยอดการใช้จ่ายรวม

ส่วนมาตรการเราเที่ยวด้วยกันมีผู้ลงทะเบียน ณ วันที่ 29 พ.ย.63 รวม 6.76 ล้านคน ลงทะเบียนสำเร็จ 6.44 ล้านคน โดยมีโรงแรมหรือที่พัก จำนวน 8,128 แห่ง ร้านอาหาร 65,429 ร้าน สถานที่ท่องเที่ยว 1,959 แห่ง และ OTOP 1,314 แห่ง ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิโรงแรมแล้ว 4,006,805 สิทธิ เป็นมูลค่าห้องพักที่จองทั้งหมด 10,961.3 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยห้องพักต่อคืนที่จอง 2,778 บาท มีจำนวนโรงแรมที่การจองทั้งสิ้น 4,888 แห่ง โดยมีผู้ที่ได้รับคูปองอาหาร 863,162 ราย ยอดใช้จ่ายทั้งหมด 3,510.4 ล้านบาท และมีผู้ลงทะเบียนเข้าพัก (Check in) แล้วจำนวน 1,417,269 การจอง สำหรับตั๋วเครื่องบินมีผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิเงินคืนค่าบัตรแล้ว 97,862 ราย มีจำนวนบัตรโดยสารหรือผู้โดยสารที่ได้รับสิทธิแล้ว 216,866 สิทธิ เป็นมูลค่าบัตรโดยสารที่ได้รับสิทธิ 565.3 ล้านบาท

ขณะที่มาตรการกำลังใจมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 711,304 คน มีผู้เดินทางท่องเที่ยว 665,789 คน และมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วทั้งสิ้น 1,292,614,000 บาท

Back to top button