“อัยการ” แจงปมไม่ฟ้องน้องชาย “ธนาธร” ล็อบบี้ที่ดินฯ ชี้ไม่ใช่ผู้ต้องหา-คดียังอยู่ในมือตร.

“อัยการ” แจงไม่มีอำนาจฟ้องน้องชาย “ธนาธร” คดีจ่ายสินบน 20 ล้าน เหตุคดียังอยู่ในมือตำรวจ


นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธมีข่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กรณีให้เงินเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 20 ล้านบาท แลกกับการได้สิทธิเช่าที่ดินระยะยาวบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยย่านชิดลม มูลค่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยไม่ผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติ เนื่องจากคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ต้องรอให้พนักงานสอบสวนหาพยานหลักฐานก่อนว่ามีการให้เงินดังกล่าวจริงหรือไม่ ต้องรอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเสร็จแล้วส่งมาให้อัยการพิจารณาดำเนินการต่อ ซึ่งจะพิจารณาไปตามพยานหลักฐานในสำนวน

  “ที่บอกว่าไม่มีการดำเนินคดี สั่งไม่ฟ้องบ้าง จึงไม่เป็นความจริง…ยังไม่อยู่ในขั้นตอนใดๆ ที่อัยการจะไปดำเนินการได้” นายอิทธิพร กล่าว

คดีนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ส่งสำนวนคดีอาญาระหว่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้กล่าวหาผู้ต้องหาสองรายในข้อหาร่วมกันเรียกรับทรัพย์สิน หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือไม่จูงใจให้เจ้าพนักงาน โดยวิธีการทุจริตหรือผิดกฎหมายให้กระทำการหรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือโทษแก่บุคคลใด ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารของทางราชการและใช้เอกสารราชการปลอม อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 143, 264, 265 และ 268, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการทุจริต พ.ส.2542 มาตรา 4, 123/4, 175 ให้กับพนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตเมื่อเดือน เม.ย.62

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เมื่อปี 2560 ผู้ต้องหาที่สองซึ่งเป็นนายหน้าได้ไปพบนายสกุลธรเพื่อนำที่ดินไปเสนอให้เช่าสองแปลงของสำนักงานทรัพย์สินฯ ประกอบด้วย แปลงแรกอยู่ในซอยร่วมฤดี และแปลงที่สองเป็นที่ตั้งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตรงชิดลม ซึ่งนายสกุลธรให้ความสนใจ เมื่อตรวจสอบแล้วว่ามีที่ดินอยู่จริง นายสกุลธรได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้ต้องหาที่สองเป็นผู้ประสานงานให้บริษัทฯ มีสิทธิได้เช่าที่ดินดังกล่าว โดยมีค่าจ้าง 500 ล้านบาท หลังจากนั้นได้แนะนำให้นายสกุลธรไปยื่นหนังสือขอเช่าที่ดินดังกล่าวต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ และมีการจ่ายเงินงวดแรก 5 ล้านบาท

ต่อมาในเดือน มี.ค.60 ผู้ต้องหาที่หนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ปลอมเอกสารของสำนักงานทรัพย์สินฯ มอบให้ผู้ต้องหาที่สองไปมอบให้นายสกุลธรว่าบริษัทผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติที่จะเป็นผู้เช่าที่ดินดังกล่าว ซึ่งนายสกุลธรได้จ่ายเงินให้อีก 5 ล้านบาท จนล่วงเลยมาถึงเดือน พ.ย.60 ยังไม่ปรากฏว่าบริษัทได้รับสิทธิเช่าที่ดินดังกล่าวจึงได้มีการเร่งรัดให้ผู้ต้องหาทั้งสองรายเร่งดำเนินการ ผู้ต้องหาทั้งสองรายจึงร่วมกันปลอมเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ อีกฉบับ โดยเชิญบริษัทไปร่วมประชุม และจ่ายเงินให้อีก 10 ล้านบาท เมื่อถึงวันดังกล่าวมีการยกเลิกประชุม นายสกุลธรจึงได้ทวงถามและทวงเงินคืน ซึ่งจากการสอบสวนได้มีการคืนเงินให้แล้ว 7 ล้านบาท

หลังจากนั้นสำนักงานทรัพย์สินฯ ทราบเรื่องก็ได้ดำเนินคดีผู้ต้องหาทั้งสองราย พนักงานสอบสวนกองปราบปราบก็ได้จับกุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายไปสอบสวนและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเมื่อเดือน เม.ย.62 โดยมีผู้ต้องหาแค่สองราย และได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองให้การรับสารภาพ จึงไม่มีการสืบพยานเพิ่มเติม และศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว ซึ่งพนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่อุทธรณ์ และส่งไปผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เห็นพ้องด้วย คดีจึงถึงที่สุด

นอกจากนี้คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงได้มีหนังสือแจ้งถึง ป.ป.ช.ซึ่ง ป.ป.ช.ได้มีหนังสือตอบกลับมอบให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามดำเนินการต่อไป ในตอนท้ายของรายงานการสอบสวนระบุว่า การกระทำของนายสกุลธรเข้าข่ายใช้ผู้ต้องหาที่สองไปกระทำความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพนักงานอัยการจะพิจารณาตามข้อเท็จจริง ไม่นำคำพิพากษามาเป็นพยาน

          “นายสกุลธรไม่ได้เป็นผู้ต้องหาในสำนวนคดีนี้…พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องนายสกุลธร” นายอิทธิพร กล่าว

Back to top button