SPCG จับมือ “พีอีเอ เอ็นคอมฯ” พร้อมลุยโซลาร์ฟาร์ม EEC เชื่อดันผลงานปี 64-65 โตแรง!
SPCG จับมือ "พีอีเอ เอ็นคอมฯ" พร้อมลุยโซลาร์ฟาร์ม EEC เชื่อดันผลงานปี 64-65 โตแรง!
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) กำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 2.3 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนจากการเงินกู้ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 5 พันล้านบาทจะมาจากการออกหุ้นกู้ ซึ่งการศึกษาร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บล.ภัทร และการออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้กับพันธมิตรที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพให้กับบริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา โดยกระบวนการจัดหาแหล่งเงินทุนจะเห็นความชัดเจนหลังการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติโครงการในวันที่ 15 ม.ค.64
สำหรับการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่ EEC ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดิน และเตรียมยื่นขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือน ม.ค.64 โดยเฟสแรก 300 เมกะวัตต์จะพัฒนาแล้วเสร็จพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในไตรมาส 3/64 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้กับรายได้ของบริษัทในปี 64-65 จะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาที่ 6-7 พันล้านบาท จากปี 63 อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือของโครงการดังกล่าวอีก 200 เมกะวัตต์ จะดำเนินการก่อสร้างต่อเนื่อง และทยอย COD ให้ครบทั้งโครงการภายในปี 69
โดยปัจจุบัน SPCG มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งในไทยและญี่ปุ่น 500 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD ไปแล้ว 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในประเทศ ส่วนโครงการ Ukujima ประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่บริษัทเตรียมสรุปดีลเจรจาเข้าลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ภายในปี 64 โดยจะเดินทางเข้าไปเจรจากับพันธมิตรทันทีที่เปิดประเทศ หลังจากดีลดังกล่าวถูกเลื่อนมาจากปีนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ บริษัทยังมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายแผนงานภายในปี 69 จะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,000 เมะวัตต์ สอดคล้องกับแผนการลงทุนโครงการใน EEC โดยตั้งปี 64-69 จะใช้เงินลงทุนในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ รวม 1 หมื่นล้านบาท แต่หากบริษัทมีดีลใหม่ที่ได้ข้อสรุปและทำให้สามารถลงทุนได้เร็วขึ้น เป้าหมายกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ก็อาจจะทำได้เร็วกว่าที่คาดไว้
ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม EEC อยู่ในระดับตัวเลขหลักเดียว แต่การลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันถือว่ามีต้นทุนที่ถูกลงมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดยต้นทุนในปัจจุบันอยู่ที่ 30-35 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ลดลงจากในอดีตที่ต้องใช้เงินราว 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ทำให้การลงทุนของบริษัทได้ผลตอบแทนที่ดีและเหมาะสมตามอัตรารับซื้อไฟในแต่ละโครงการ ส่งผลให้บริษัทยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ในระดับที่ดี