ก.ล.ต.ร่วมมือ “กองทุนพรอสเพอริตี้”-“อีวายฯ” จัดสัมมนาส่งเสริมบจ. ยกระดับตลาดทุน
ก.ล.ต.ร่วมมือ 2 องค์กร "กองทุนพรอสเพอริตี้"-"อีวายฯ" จัดสัมมนาส่งเสริมบจ. ยกระดับตลาดทุน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวเปิดงานสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ “Introduction to Climate Risk Disclosure” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ว่า การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้บริษัทจดทะเบียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (climate risk) และสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ไปต่อยอดเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในฐานะผู้ลงทุนสถาบันเข้าใจความเสี่ยงและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของตลาดทุนไทยในการตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศ
“ตามที่ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในแบบรายงานเดียว (แบบ 56-1 One Report) เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) ของบริษัทจดทะเบียน โดยกำหนดให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นหนึ่งในหัวข้อการเปิดเผย เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมี ESG และเป็นข้อมูลให้ผู้ลงทุนใช้ในการตัดสินใจลงทุนนั้น ก.ล.ต. หวังว่า การสัมมนานี้จะเป็นประโยชน์สำหรับบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง ทั้งบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report และบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ด้าน นายแอนดรูว์ เบิร์น ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและแผนพรอสเพอริตี้ประจำสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า การตระหนักถึงความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคธุรกิจถือเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้ทรัพยากรในช่วงสถานการณ์ COVID-19 นอกจากนี้ ยังมีแรงผลักดันที่เพิ่มขึ้นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้ลงทุน หน่วยงานกำกับดูแล และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในหลายประเทศ เช่น ภายในปี ค.ศ. 2025 อังกฤษมีแผนที่จะให้ทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดใหญ่และสถาบันการเงิน ต้องเปิดเผยผลกระทบเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศตามแนวทางของ Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) ซึ่งมี 4 ด้านหลัก ได้แก่ การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล การผนวกเข้ากับกลยุทธ์องค์กร การบริหารจัดการความเสี่ยง และการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลตามแนวทาง TCFD จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจไทยในเวทีโลก