SYNEX มองรายได้ปี 64 โตต่อ 15% รับกระแส 5G หนุนยอดขายพุ่ง

SYNEX มองรายได้ปี 64 โตต่อ 15% รับกระแส 5G หนุนยอดขายพุ่ง


นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ SYNEX เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 63 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตกว่าระดับ 523.93 ล้านบาทในปีก่อน หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำกำไรสุทธิได้แล้ว 468.62 ล้านบาท จากการจำหน่ายสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง

รวมถึงคาดว่าในไตรมาส 4/63 กำไรสุทธิจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าไอโฟน 12 หนุน และกระแสเทคโนโลยี 5G ทำให้อุปกรณ์ขายดีตามไปด้วย รวมถึงการเข้าไปดูแลบริการหลังการขายให้ Xiaomi ก็จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนธ.ค.นี้

ด้านภาพรวมธุรกิจไอทีปีนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความท้าทายในการบริหารองค์กรท่ามกลางวิกฤติที่ร้ายแรง แต่สินค้าเทคโนโลยีก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต ทำให้ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีแม้ในช่วงที่ล็อกน์ดาวน์ ขณะที่สินค้าบางรายการกลับมีความต้องการที่สูงขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊ก, สินค้ากลุ่มแท็ปเล็ต/ไอแพด เพื่อใช้สำหรับ Work from home และกลายเป็นวิถีใหม่ผู้บริโภคสามารถทำงานได้ทุกที่

พร้อมกันนี้สินค้ากลุ่มเกมมิ่งก็ถือว่าเป็นอีกไฮไลท์สำคัญในปีนี้ เนื่องจากบริษัทได้รับความไว้วางให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ชั้นนำระดับโลกเข้ามาเพิ่มเติมในพอร์ต รับกระแสการเติบโตของ e-sport ที่ยังคงความร้อนแรง โดยปัจจุบันบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดในพอร์ตเกมมิ่งโน๊ตบุ๊กรวมกับเกมมิ่งเกียร์อันดับหนึ่ง สูงสุดในประเทศไทย และพร้อมที่จะขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นในปีหน้า

“ปัจจุบันซินเน็คฯ มีสัดส่วนรายได้จากโทรศัพท์มือถือแบรนด์ชั้นนำรวมอยู่ที่ประมาณ 40% อีก 40% มาจากตลาด Consumer ซึ่งจะรวมทั้งกลุ่มเกมมิ่ง แกดเจ็ต ส่วนที่เหลือจะเป็นตลาด Commercial หรือลูกค้าโครงการต่าง ๆ อย่างไรก็ดี บริษัทเน้นเจาะสินค้ากลุ่มที่มีมาร์จิ้นสูง และการบริหาร Product Mix อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเชื่อมั่นว่า แม้ในปีนี้รายได้อาจจะไม่ได้เติบโตจากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้อุปทานของสินค้าบางกลุ่มมีอยู่อย่างจำกัด แต่จะเห็นกำไรเติบโตขึ้นได้อย่างแน่นอน” นางสาวสุธิดา กล่าว

นางสาวสุธิดา กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโต 12-15% จากสินค้าเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเป็นตัวหนุน เนื่องด้วย 5G จะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์สื่อสาร และเติมเต็มไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของไอโอที (IoT : Internet of things) การเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ และ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และในภาคธุรกิจมากขึ้น ทำให้บริษัทสามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่องในปี 64

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน บริษัทก็เตรียมจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่เป็นไฮเอนด์เทคโนโลยีในเร็วๆ นี้ รวมถึงภาพรวมการขยายการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ, การอัพเกรดระบบ และอุปกรณ์เทคโนโลยีของภาคเอกชน ก็น่าจะสนับสนุนการเติบโตของสินค้ากลุ่มคอมเมอร์เชียล (Commercial) และคลาวด์ & ซิเคียวริตี้ (Cloud & Security) ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูง

ขณะที่สินค้ากลุ่มเกมมิ่ง ก็มองว่ายังเติบโตต่อเนื่อง ด้วยอุตสาหกรรมเกมที่ถูกพัฒนาขึ้น สามารถเล่นเกมร่วมกันจากเครื่องเล่น Console และ PC ทำให้การตอบรับของผู้เล่นมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีความต้องการอุปกรณ์เกมมิ่งเกียร์ที่มีความทันสมัย โดยบริษัทยังคงเดินหน้ารุกตลาดนี้ และคาดจะได้เห็นการจับมือกับพันธมิตรแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมพอร์ต ควบคู่ไปกับแผนขยายแพลตฟอร์มด้านการบริการทั้งก่อนและหลังการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจ และยกระดับการดูแล อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ไว้วางใจในสัญลักษณ์ Trusted By Synnex มาโดยตลอด

ปัจจุบัน SYNEX ก็ได้เข้ามาดูแลบริการหลังการขายให้ Xiaomi ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีสมาร์ทโฟนและสินค้าไลฟ์สไตล์หลากหลายประเภท โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะมีโอกาสขยายความร่วมมืออื่น ๆ เพิ่มเติมอีก รวมถึง ล่าสุด SYNEX ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเล่นเกม ของบริษัท นินเท็นโด (Nintendo) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ผู้คิดค้นเกม Mario และผู้ผลิต Game Boy คาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายในประเทศไทยได้ในปีหน้าเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามจากปัจจัยทั้งหมดนี้ก็คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมของบริษัททั้งในแง่ของยอดขายและอัตรากำไรในปี 64 กลับมาเติบโตได้

“ในปี 64 เราจะกลับมาเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก จากโทรศัพท์มือถือ 5G และ IoT Ecosystem, สินค้ากลุ่มเกมมิ่ง และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, IT commercial solutions และซัพพลายกลับมา” นางสาวสุธิดา กล่าว

Back to top button