“รฟท.” ขายซองประมูล พัฒนาแปลง A บางซื่อ 1.1 หมื่นลบ. 28 ธ.ค. ปรับเงื่อนไขกระตุ้นนักลงทุน
"รฟท." ขายซองประมูล พัฒนาแปลง A บางซื่อ 1.1 หมื่นลบ. 28 ธ.ค. ปรับเงื่อนไขเปิดกว้าง หวังกระตุ้นนักลงทุน
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.เปิดประมูลสรรหาเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณสถานีกลางบางซื่อ แปลง A ที่ดินประมาณ 32 ไร่ มูลค่าลงทุน 11,721 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยจะขายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.63 ถึงวันที่ 29 ม.ค.64 และให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอในวันที่ 1 มิ.ย.64 ณ ห้องประชุมสถานีรถไฟบางซ่อน เวลา 09.00 น.-15.00 น.
ก่อนหน้านี้ รฟท.เคยเปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่แปลง A ไปครั้งแรกเมื่อปี 62 แต่ไม่มีผู้ยื่นประมูล ดังนั้น ในการเปิดประมูลครั้งที่ 2 นี้ รฟท.จึงได้จัดการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจ (Market Sounding) และปรับปรุงเงื่อนไขให้เปิดกว้างมากขึ้น ขณะที่พื้นที่แปลง A ติดกับสถานีกลางบางซื่อที่จะเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงในปี 64 นี้แล้ว จึงคาดว่าครั้งนี้จะมีเอกชนสนใจมากกว่าการประมูลครั้งแรก
ทั้งนี้ เอกชนที่ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนแปลง A จะต้องรับผิดชอบการออกแบบ จัดหาเงินทุน ก่อสร้าง บริหาร และดำเนินโครงการ เมื่อสิ้นสุดสัญญาจะโอนกรรมสิทธิ์อาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้แก่ รฟท. (B-O-T) มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี และมีระยะเวลาก่อสร้างไม่เกิน 4 ปี
เป้าหมาย
1.พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ แนวคิด TOD โดยคำนึงถึงการสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้แก่ รฟท.
2.สนับสนุนการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ
3.พัฒนาพื้นที่โดยนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มาประยุกต์ออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินธุรกิจ ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจสมัยใหม่ครบวงจร (Smart Business Complex) ที่มีประเภทของกิจการทางพาณิชย์แบบผสมผสาน (Mixed Use) ได้แก่ ร้านค้า โรงแรม และสำนักงาน โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องก่อสร้างอาคารพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 317,000 ตารางเมตร
คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ
1.นิติบุคคลรายเดียว ต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนจัดตั้งไม่น้อยกว่า 3 ปี (นับถึงวันยื่นข้อเสนอ)
2.กิจการร่วมค้า บริษัทผู้นำต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือต่างประเทศไม่น้อยกว่า 3 ปี (นับถึงวันยื่นข้อเสนอ) และมีนิติบุคคลไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยมูลค่าสุทธิของกิจการ (Net Worth) รายปีเฉลี่ยในรอบระยะ 3 ปี ย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
3.นิติบุคคลควบรวมกิจการ
สำหรับประสบการณ์ผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ โครงการเดียวหรือหลายโครงการรวมกันไม่เกิน 3 โครงการ ที่มีขนาดพื้นที่อาคารรวมกันไม่น้อยกว่า 150,000 ตารางเมตร แต่ละโครงการต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร โดยดำเนินการในเวลาไม่เกิน 10 ปี ณ วันยื่นข้อเสนอ
สำหรับการประเมินมี 6 ขั้นตอน
1.ประเมินขั้นต้น ตรวจสอบหลักฐาน (ซองไม่ปิดผนึก) ได้แก่ หนังสือมอบอำนาจ หลักฐานการซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชน หนังสือยืนยันการไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกันจากอำนาจศาลและหลักประกันซอง
2.ด้านคุณสมบัติ (ซองที่ 1) ประเมินแบบผ่าน/ไม่ผ่าน
3.ข้อเสนอทางเทคนิคและแผนการลงทุน (ซองที่ 2) ประเมินมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน มีเกณฑ์ประเมิน 4 หัวข้อ คือ รูปแบบการพัฒนาโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการและข้อกำหนด 30 คะแนน , แผนธุรกิจ 40 คะแนน ,แผนการบริหารการก่อสร้าง และการประมาณมูลค่าการก่อสร้าง 15 คะแนน ,แผนการดำเนินโครงการ 15 คะแนน โดยผู้ผ่านซอง 2 จะต้องได้คะแนนในการประเมินแต่ละหัวข้อไม่น้อยกว่า 70 % และจะต้องได้รับคะแนนรวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 80%
ทั้งนี้ กรณีมีผู้ผ่านประเมินซองที่ 2 เพียงรายเดียว หากคณะกรรมการคัดเลือกฯเห็นว่า รัฐจะได้ประโยชน์ก็สามารถดำเนินการพิจารณาข้อเสนอขั้นต่อไปได้
4.ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่รฟท. (ซองที่3 ) กรณีมีผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดเท่ากันมากกว่า 1 ราย คณะกรรมการคัดเลือกจะเรียกผู้ที่ยื่นเสนอผลตอบแทนที่เท่ากันนั้น มาทำการเสนอผลประโยชน์รวมแก่ รฟท.อีกครั้ง โดยจะต้องไม่ต่ำกว่าข้อเสนอที่ยื่นไว้เดิม และผู้ที่เสนอสูงสุดจะถือว่าผ่าน
5.ข้อเสนอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ (ซองที่ 4 ) คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเปิดซองที่ 4 ของผู้ผ่านการประเมินซอง 3 และเป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณารับหรือไม่รับข้อเสนอเพิ่มเติมประสิทธิภาพ ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้
6.เจรจาต่อรองสัญญาร่วมลงทุน ตามกรอบเอกสารการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal)