ก.ล.ต.ฟันผู้ดูแล “private key” ทำธุรกรรมอำพราง เข้าข่ายผิด “พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล”
ก.ล.ต.ฟันผู้ดูแล “private key” ทำธุรกรรมอำพราง เข้าข่ายผิด “พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เก็บรักษา private key ของ BX พร้อมแจ้งเบาะแสบุคคลที่อาจเป็นบุคคลที่บริษัทมอบหมายให้เก็บรักษา private key ซึ่งอยู่ในข่ายที่อาจเป็นผู้กระทำความผิด
ภายหลังตรวจสอบพบการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กรณีผู้กระทำผิดโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่อยู่ในความดูแลหรือครอบครองของบริษัทบิทคอยน์ จำกัด (BX) ออกไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัล (wallet) ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อพิจารณาสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด และแจ้งการกล่าวโทษให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร
สืบเนื่องจากในวันที่ 3 เมษายน 2563 BX ได้แจ้งการหยุดกิจการของบริษัททั้งหมด โดยยุติการให้บริการติดต่อกับลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับทรัพย์สินคืนและปลดพนักงานทั้งหมด
โดยก.ล.ต. ตรวจพบว่า หลังจากนั้นกลับปรากฏรายการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่อยู่ภายใต้ความดูแลและความครอบครองของ BX ใน wallet ที่ BX ใช้เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ออกไปยัง wallet ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมดูแลของ BX โดยไม่ได้เกิดจากการขอรับทรัพย์สินคืนจากลูกค้า ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 85 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล) และเป็นการกระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลนั้น อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนการวินิจฉัยคดีซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ