SET Awards 2020 รางวัลเกียรติยศตลาดทุนไทย
SET Awards 2020 รางวัลเกียรติยศตลาดทุนไทย
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวารสารการเงินธนาคาร จัดงานประกาศผลและมอบรางวัล SET Awards 2020 ครั้งที่ 17 เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูบริษัทจดทะเบียน (บจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุน ที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ
โดยในปีนี้การมอบรางวัล มุ่งเน้นด้าน Business Excellence ซึ่งเป็นความสามารถในการดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วจากปัจจัยรอบด้านเช่นในปัจจุบัน ซึ่ง SET awards ถือเป็นรางวัลเกียรติยศทรงคุณค่าในตลาดทุนไทยซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกมอบรางวัลอย่างเข้มข้น
สำหรับในปีนี้รางวัลผู้บริหารสูงสุดยอดเยี่ยม (Best CEO Award) บจ. ใน SET เป็นของ นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ส่วนรางวัลผู้บริหารสูงสุดยอดเยี่ยม (Best CEO Award) บจ. ใน mai คือ นายแม่ทัพ ต.สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU ขณะที่นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN รับรางวัล Young Rising Star CEO Award ซึ่งที่น่าสนใจว่าเป็นบริษัทในกลุ่มอาหารทั้งสิ้นและมีวิสัยทัศน์เฉียบๆ ที่ต้องปรบมือและน่านำไปปรับใช้
โดย CBG ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ซึ่งมีการลงทุนหลักในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจ ผลิต ทำการตลาด จำหน่าย และบริหารจัดการการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างครบวงจร ซึ่ง “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CBG กล่าวว่า พันธกิจและวิสัยทัศน์ของ CBG ไม่ใช่แค่คำพูด แต่ต้องนำมาใช้ในการทำงานจริง เริ่มตั้งแต่พันธกิจทั้ง 7 ด้าน ที่แบ่งเป็น Input 4 ด้าน คือ การพัฒนาบุคลากร ระบบงานที่มีมาตรฐานสากล โครงสร้างการบริหารที่ชัดเจน และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในองค์กร เพื่อทำให้เกิด Output 3 ด้าน คือ การผลิตสินค้าที่มีมาตรฐาน การสร้างแบรนด์ที่มีคุณค่าและทันสมัย และภาพลักษณ์องค์กรระดับโลกที่มีธรรมาภิบาลและรับผิดชอบต่อสังคม
รวมถึงค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร “รู้แจ้ง ทำจริง ถูกต้อง แม่นยำ” ของ CBG ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ตัวผู้บริหารต้องลงไปทำงานในพื้นที่ คุยกับลูกค้าและคู่ค้าด้วยตัวเอง และการตัดสินใจทุกอย่างต้องมีข้อมูลมารองรับและสนับสนุน
“CBG จะสร้างบรรยากาศให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่เป็นแค่สิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม และไม่ใช่จะมีอยู่ในแค่บริษัทเทคโนโลยีหรือ Startup เท่านั้น”
ในส่วนของ AU ดำเนินธุรกิจจำหน่ายขนมหวาน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ (1) ธุรกิจร้านขนมหวาน ภายใต้ชื่อ “ร้านอาฟเตอร์ ยู” และ “ร้านเมโกริ” และ (2) ธุรกิจบริการจัดงานนอกสถานที่และการรับจ้างผลิต โดย “แม่ทัพ ต.สุวรรณ” กรรมการผู้จัดการ AU เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานในช่วงวิกฤต คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ก่อนที่จะช่วยกันคิดและตัดสินใจแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ส่วนกาแฟ Mikka และการทำเฟรนไชส์ถือเป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ สำหรับทุกคนที่ After You ซึ่งต้องฝึกฝนและเรียนรู้ใหม่หมดทุกอย่าง เรียกได้ว่า ประชุมกับพนักงานทุกสัปดาห์อยู่นาน กว่าจะลงตัวและประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ซึ่ง Mikka ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ Pain Point สำคัญของ After You ทั้งในด้านราคาขายและการลงทุนขยายสาขา รวมถึงสามารถเจาะตลาด Mass กลุ่มคนวัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การลงมือทำจริงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการถ่ายทอด After You DNA ให้กับพนักงาน โดยตัว CEO ลงไปทำกับพนักงานจริงๆ ที่สาขาเป็นประจำ ไม่เกี่ยงงาน เพื่อทำให้ลูกค้าทุกคนมีความสุข”
ปิดท้ายกันที่ TKN ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแปรรูปทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้าชื่อดัง “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยว โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมาก ซึ่ง “อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TKN มองว่าสิ่งสำคัญสำหรับคนของ TKN ทุกคน คือ การคิดแบบผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship Mindset ดังนั้น ทางตัวผมเองและผู้บริหารทุกคนจะคอยเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จะผิดพลาดบ้างก็ได้ แต่ต้องล้มให้ไวและลุกให้ไว เพื่อเริ่มต้นใหม่ทันทีโดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร ให้เป็น “Innovative Food Company”
ซึ่งแบรนด์เถ้าแก่น้อยเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง แต่เรายังคงมองหา Core ที่จะเป็นอนาคตและความยั่งยืนของเราต่อไป ซึ่งเราตั้งเป้าหมายที่จะให้เถ้าแก่น้อยกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกหรือ Global Brand ที่ดีต่อสังคมและดีต่อโลกของเราทุกคน
“ในวิกฤติ COVID-19 เราได้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจ ไม่ใช่แค่จากพนักงานทุกคน แต่ยังมีทั้ง Supplier และคู่ค้าต่างๆ ที่ช่วยกันทำให้ทุกคนสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ Go firm & Go broad, then Go global เป็นสิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ โดยเริ่มจากการสร้างรากฐานที่มั่นคงของบริษัท และขยายแหล่งรายได้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถมาช่วยยกระดับสินค้าและ Business Model ใหม่ๆ ก่อนที่จะนำแบรนด์เล็กๆ ของเรามุ่งไปสู่ตลาดโลก”