“พาณิชย์” ชี้ศก.โลกฟื้นต่อเนื่อง เอื้อส่งออกไทย พ.ย.ติดลบน้อยลง เชื่อปีหน้าพลิกโต 4%

"พาณิชย์" ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้น เอื้อส่งออกไทย พ.ย.63 ติดลบน้อยลง กลุ่มอาหารสด-เฟอร์นิเจอร์ โตต่อเนื่อง เชื่อปีหน้าพลิกบวก 4%


สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ย.63

โดยการส่งออกไทยมีมูลค่า 18,932.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -3.65% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 18,880.07 ล้านดอลลาร์ หดตัว -0.99% ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 52.59 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาพรวมใน 11 เดือนของปี 63 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกมีมูลค่ารวม 211,385.69 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -6.92% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 187,872.74 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -13.74% ส่งผลให้เกินดุล 23,512.96 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน พ.ย.63 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แม้ยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 เดือน

สอดคล้องกับหลายองค์กรระหว่างประเทศที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคู่ค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกในเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ รวมทั้งข่าวดีเรื่องความคืบหน้าในการผลิตและกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค โดยการส่งออกไทยมีภาวะการหดตัวน้อยลง ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม

สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร

2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยางที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ด้านตลาดส่งออก ตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่หลายตลาดกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย รวมทั้งตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ล้วนมีอัตราการหดตัวที่ลดลงมากในเดือนนี้ เช่น อาเซียน (5) และตะวันออกกลาง ในขณะที่การค้าชายแดนของไทย โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ยังได้รับผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เชื่อมั่นว่าปีนี้การส่งออกจะติดลบไม่เกิน -7% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม และยังมีโอกาสติดลบไม่ถึง -7% หากมูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค.63 อยู่ในช่วง 1.8-1.9 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นเดียวกับเดือน พ.ย.63 ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบราว -6.45 ถึง -6.8%

ทั้งนี้ การส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้หารือกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าเพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออก รวมถึงการลดค่าระวางเรือ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ

ในด้านการเจรจาการค้า ได้กำชับให้เร่งเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ที่ยังค้างอยู่ และเปิดการเจรจา FTA ใหม่ๆ เช่น ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ยูเรเซีย ไทย-เอฟต้า อาเซียน-แคนาดา ตลอดจนผลักดันการสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรรายมณฑล นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดและโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้การส่งออกของไทยในปี 64

“การส่งออกไทยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในภาพรวมคาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือนสุดท้ายของปี และหากประเทศไทยได้รับมอบวัคซีนในช่วงกลางปี 64 ตามกำหนด จะฟื้นคืนความเชื่อมั่นได้เร็วขึ้น และส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัว ซึ่งจะทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวหลายรายการกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง” นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว

ส่วนการส่งออกในปี 64 เชื่อว่าจะพลิกกลับมาเติบโตได้ราว 4% จากผลของฐานที่ต่ำในปีนี้ โดยมีปัจจัยหนุนจากสินค้าไทยมีศักยภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อดีขึ้น ข่าวการผลิตวัคซีน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาครของไทย ที่จะต้องควบคุมไม่ให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะกระทบการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยได้

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ซึ่งหลังเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ประเทศต่างๆ จะกลับมาส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกในอนาคต ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างของสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่ยังผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเก่า ขณะที่หลายๆ ประเทศเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว หรือประเทศไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในสินค้าอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว

Back to top button