ไทยป่วย “โควิด” เพิ่ม 81 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในปท. 37 แรงงานต่างด้าวอีก 35 ราย
ไทยป่วย “โควิด” เพิ่ม 81 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในปท. 37 แรงงานต่างด้าวอีก 35 ราย
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ (25 ธ.ค.63) ระบุพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 81 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 37 ราย , ผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุกเป็นแรงงานต่างด้าว 35 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) 9 ราย
ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 5,910 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,967 ราย ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุก 1,308 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,943 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 21 ราย รักษาหายแล้วรวม 4,130 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) 1,713 ราย รวมรักษาหายแล้ว 4,095 ราย เสียชีวิตสะสมคงที่ 60 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศที่เพิ่มขึ้นวันนี้ ส่วนใหญ่จะมีความเชื่อมโยงกับกรณีการระบาดที่ จ.สมุทรสาคร โดยกระจายอยู่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดกระจายไป 31 จังหวัดแล้ว ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ 2.ฉะเชิงเทรา 3.นครปฐม 4.ปทุมธานี 5.เพชรบุรี 6.สมุทรปราการ 7.สระบุรี 8.อุตรดิตถ์ 9.เพชรบูรณ์ 10.สุพรรณบุรี 11.นครราชสีมา 12.ปราจีนบุรี 13.กระบี่ 14.ภูเก็ต 15.พระนครศรีอยุธยา 16.กำแพงเพชร 17.ขอนแก่น 18.ชัยนาท 19.สมุทรสงคราม 20.อุดรธานี 21.พิจิตร 22.นครศรีธรรมราช 23.สุราษฎร์ธานี 24.ชัยภูมิ 25.นครสวรรค์ 26.นนทบุรี 27.อ่างทอง 28.ราชบุรี 29.สงขลา 30.เลย 31.อุบลราชธานี
โฆษก ศบค. กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 35 รายวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ แบบไม่แสดงอาการ และจากแผนที่วางไว้ว่าจะมีการตรวจประมาณ 10,000 รายนั้น ขณะนี้ตรวจหาเชื้อไปแล้ว 8,810 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1,308 ราย คิดเป็น 15%
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เชิญคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ เข้ามาร่วมประชุมด้วย โดยให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้ป่วยใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร ให้ได้มาก และแยกผู้ป่วยออกมา เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษา ดังนั้น กระบวนการจัดตั้ง รพ.สนาม ในพื้นที่จึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก และยืนยันว่ามีการจัดระบบความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี
ดังนั้น ขอให้ประชาชนในพื้นที่อย่าได้กังวล เพราะจะไม่มีความเสี่ยงจากการรับเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งการดำเนินการจัดตั้ง รพ.สนาม ก็เพื่อควบคุมให้การแพร่ระบาดในพื้นที่สมุทรสาครใช้เวลาสั้นที่สุด พร้อมกับขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น
“เรามีความไม่สบายใจ ที่คนในพื้นที่ของ จ.สมุทรสาคร ยังไม่เข้าใจ จึงมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ออกมา ว่าไม่อยากให้อยู่ใกล้ แต่การสร้าง รพ.สนามในพื้นที่นั้น ไม่ได้ทำให้มีความเสี่ยงสูงมาก เรามีระบบดูแลสภาวะแวดล้อมอย่างดี…เราขอความร่วมมือ ขอความเข้าใจในการได้ดูแลคนในจังหวัดของท่านเอง และใกล้พื้นที่ของท่านเอง ซึ่งจะสะดวกในการดูแล เราจะสนธิกำลังทีมแพทย์เติมเข้าไป เพื่อดูแลอย่างดีให้เต็มที่…ไม่ต้องกังวล เพราะหมอ และพยาบาลก็ต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้นด้วย ต้องทำให้ดีที่สุด และไม่อยากติดเชื้อเหมือนกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
สำหรับการแบ่งพื้นที่สถานการณ์การระบาดออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด 2.พื้นที่ควบคุม 3.พื้นที่เฝ้าระวังสูง และ 4.พื้นที่เฝ้าระวัง ก็เพื่อกำหนดมาตรการดูแลที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดไปพิจารณาสร้างมาตรการการดูแลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่
“ที่ต้องแจ้งเป็นทางการวันนี้ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ได้พูดคุยแล้วเอาตัวเลขมาคุยกัน แล้วยืนยันกับทาง ศบค.กลาง กับกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อเลขตรงกันแล้ว ก็ไปปรึกษากันว่าจังหวัดของท่านจะอยู่ในพื้นที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 หรือ 4 ให้ใช้วิจารณญาณของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจัดเกณฑ์ของตัวเอง และสร้างมาตรการออกมา” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โดยสถานการณ์ปัจจุบัน ยังอยู่ภายใต้สมมติฐาน 4 ข้อ คือ 1.อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ 2.ขีดความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ 3.ภาครัฐ ประชาชน และสังคม ยังให้การสนับสนุนกระบวนการด้านสาธารณสุข 3.มีการตระหนักรู้ถึงมาตรการป้องกันและร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งหากสถานการณ์ในทั้ง 4 พื้นที่ยังเป็นไปตามเงื่อนไขหรือสมมติฐานทั้ง 4 ข้อนี้ คือสามารถควบคุมดูแลได้ ก็จะยังใช้หลักเกณฑ์การดูแลของ 4 พื้นที่ แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรงเกินกว่านี้ มาตรการดูแลก็อาจจะต้องกลับไปเข้มงวดเหมือนในช่วงเดือนมี.ค. ที่ยกเลิกกิจกรรมทุกประเภท
“แต่หากมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องกลับไปเป็นแบบช่วงเดือนมี.ค. ต้องประกาศยกเลิกกิจกรรมทุกอย่าง มีเคอร์ฟิว มีล็อกดาวน์ แต่ตอนนี้เราไม่ทำอย่างนั้น เราใช้มาตรการ 4 พื้นที่นี้ เพื่อไม่ต้องมีล็อกดาวน์ เราต้องขอความร่วมมือทั้ง 4 ข้อนี้ต้องคงอยู่ ถ้าหลุดข้อใดข้อหนึ่งไป ต้องกลับไปใช้มาตรการเข้มกว่านี้ และอีกหลายมาตรการก็จะต้องตามมา” โฆษก ศบค. กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ผลิตสินค้าใน จ.สมุทรสาคร ว่าถูกร้านค้าในจังหวัดอื่นๆ แบนสินค้าที่มาจาก จ.สมุทรสาครนั้น โฆษก ศบค. เห็นว่า เป็นการตื่นตระหนกมากเกินไป โรคโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่กลับมีการถูกปฏิเสธไปถึงอาหาร หรือสินค้าต่างๆ ที่มาจาก จ.สมุทรสาคร ซึ่งประเด็นนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับกับ รมว.พาณิชย์ และรมว.สาธารณสุข ให้จัดทีมเข้าไปตรวจสอบคุณภาพสินค้าและอาหารถึงสถานที่ผลิด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคว่าสินค้าและอาหารมีความปลอดภัย พร้อมขอให้ประชาชนมีความมั่นใจ และกลับไปอุดหนุนสินค้าจาก จ.สมุทรสาคร ได้เหมือนเดิม