ศาลอุทธรณ์ สั่ง “สุรินทร์” ชดใช้ค่าเสียหาย 24.54 ลบ.-ห้ามยุ่งตลาดทุน ฐานปั่นหุ้น PICO
ศาลอุทธรณ์ สั่ง “สุรินทร์” ชดใช้ค่าเสียหาย 24.54 ลบ.-ห้ามยุ่งตลาดทุน ฐานปั่นหุ้น PICO
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแพ่ง กรณีสร้างราคาหุ้น บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO เป็นว่าให้นายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ จำเลย ชำระเงิน 24,538,815 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ ก.ล.ต.
พร้อมทั้งห้ามนายสุรินทร์เข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษานี้ และห้ามนายสุรินทร์เป็นกรรมการ หรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ทราบคำพิพากษานี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โดย ก.ล.ต. เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ กรณีนายสุรินทร์มีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น PICO ในลักษณะสร้างราคาหุ้น PICO แต่นายสุรินทร์ไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนายสุรินทร์ต่อศาลแพ่ง ตามที่ ก.ล.ต. ส่งเรื่องเพื่อขอให้ศาลกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งกับนายสุรินทร์ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. 7563/2561 ระหว่าง ก.ล.ต. โจทก์ นายสุรินทร์ บรรยงพงศ์เลิศ จำเลย
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ. 5396/2562 โดยพิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 1.25 เท่าของผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นเงิน 10,180,283.75 บาท ให้ชดใช้เงินผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นเงิน 8,144,227 บาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายของโจทก์เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเงิน 106,134 บาท รวมเป็นเงิน 18,430,644.75 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
รวมทั้งห้ามจำเลยเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และห้ามจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นต้นไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแพ่ง เป็นว่าให้จำเลยชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงิน 2 เท่าของผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด เป็นเงิน 16,288,454 บาท ให้ชดใช้เงินผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดเป็นเงิน 8,144,227 บาท และชำระค่าใช้จ่ายอันเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดของจำเลยเป็นเงิน 106,134 บาท รวมเป็นเงิน 24,538,815 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
รวมทั้งห้ามจำเลยเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี นับแต่วันทราบคำพิพากษา และห้ามจำเลยเป็นกรรมการ หรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ทราบคำพิพากษา (วันที่ 15 ธันวาคม 2563) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ด้าน นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า คดีนี้เป็นกรณีการสร้างราคาหลักทรัพย์ที่ดำเนินคดีโดยใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ก.ล.ต. จะดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง
อนึ่ง ก.ล.ต. ได้ขอศาลแพ่งออกหมายบังคับคดี เพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์ของนายสุรินทร์มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งไว้แล้วเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562