“ส.อ.ท.” ประสานรัฐบาล นัดหารือแก้ผลกระทบโควิดรอบใหม่ ตามข้อเสนอเอกชน ภายในม.ค.นี้

“ส.อ.ท.” ประสานรัฐบาล นัดหารือแก้ผลกระทบโควิดรอบใหม่ ตามข้อเสนอเอกชน ภายในม.ค.นี้


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างประสานไปยังรัฐบาลเพื่อให้เรียกประชุม ศบค.เศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยจะขอให้มีการประชุมภายในเดือน ม.ค.นี้

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั้นขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่เชื่อว่าผลกระทบต่อการผลิตสินค้าส่งออกไม่มากนัก ถึงแม้จะมีผู้ประกอบการบางรายหยุดทำการผลิตในส่วนที่พบผู้ติดเชื้อก็ตาม แต่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกมาก ได้แก่ การล็อกดาวน์ การขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า และเงินบาทแข็งค่า

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้ใช้มาตรการอาหารปลอดภัย (Food Safety+) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าว่าสินค้าดังกล่าวมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยได้ชี้แจงทำความเข้าอย่างต่อเนื่อง “มาตรการ Food Safety Plus สามารถป้องกันได้ถึงเชื้อแบคทีเรีย และทางองค์การอนามัยโลกก็ยืนยันแล้วว่าอาหารไม่สามารถแพร่เชื้อโรคได้ แต่การแพร่เชื้อโรคเกิดจากการสัมผัส” นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะเพิ่มการรักษาสุขอนามัยของสถานประกอบการ, การบันทึกประวัติสุขภาพของพนักงาน, การทำความสะอาดจุดสัมผัสภายในสถานประกอบการ, การตร0.วจคัดกรองโรค, การอบรมให้ความรู้พนักงานเกี่ยวกับการรักษาสุขอนามัย และในส่วนของสินค้าประมงนั้นยังมีมาตรการเพิ่มเติมที่ต้องผ่านการตรวจเพื่อออกใบรับรองจากกรมประมง

“มีโรงงานบางแห่งใช้วิธีคัดกรองโควิด-19 ด้วยการให้พนักงานดมยาหม่อง หากยังได้กลิ่นก็แสดงว่ายังไม่ติด” นายวิศิษฐ์  กล่าว

นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การตรวจพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะหากเฉลี่ยตามสัดส่วนของพนักงานทั้งหมดแล้วถือว่าน้อยมาก อีกทั้งมีการตรวจเจอในระยะเริ่มต้นที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ถือว่าวิกฤติ เพราะตรวจเจอเป็นกลุ่มก้อนก็สามารถควบคุมได้ง่าย” นายวิศิษฐ์ กล่าว

ขณะที่นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล รองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่ตรวจพบผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 3 ม.ค.64 มีมูลค่าราว 1.6 หมื่นล้านบาท โดยคำนวณจากรายได้จากตลาดอาหารทะเลวันละ 400 ล้านบาท, รายได้จากสินค้าเกษตร ได้แก่ มะพร้าว ลำไย เดือนละ 220 ล้านบาท ส่วนเหลือเป็นรายได้เกี่ยวกับพาณิชยกรรม

และหลังจากวันที่ 4 ม.ค.เป็นต้นมา มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือราววันละ 2-2.2 พันล้านบาท เพราะเริ่มส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีอยู่ราว 6-7 พันแห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง โรงงานผลิตเหล็กแปรรูป โรงงานผลิตพลาสติกแปรรูป

“ปัญหาสำคัญขณะนี้เป็นเรื่องความเชื่อมั่น รถที่จะมารับสินค้าไปขายหรือนำวัตถุดิบมาส่งโรงงานไม่กล้าเข้าพื้นที่” นายชาธิป กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้รวบรวมข้อมูลเสนอผ่านคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้รัฐบาลช่วยเหลือ เช่น การพักหนี้, การงดจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม, การจ่ายเงินเยียวยาและให้สินเชื่อ, การสร้างความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ร่วมกันระดมทุนเพื่อจัดสร้าง รพ.สนาม, การดำเนินการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก

Back to top button