“นายกฯ” อัดฉีดงบกลาง 4,661 ลบ. ให้ “สธ.” สู้โควิดระลอกใหม่ เพิ่มความเชื่อมั่นดูแลปชช.

“นายกฯ” อัดฉีดงบกลาง 4,661 ลบ. ให้ “สธ.” สู้โควิดระลอกใหม่ เพิ่มความเชื่อมั่นดูแลปชช.


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงรุนแรง โดยข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8% ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21% ซึ่งทวีปยุโรปมีจำนวนการรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุด ในขณะที่ประเทศไทยเองเกิดการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ มีความเสี่ยงสูงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะมีการแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับดูแลป้องกันบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่และมีงบประมาณเพียงพอสำหรับดำเนินการ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ : กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะการระบาดระลอกใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนงานและโครงการอย่างเคร่งครัด” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณทั้ง 4,661 ล้านบาท จะจัดสรรแก่หน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการระบาดระลอกใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ทั้งนี้ งบประมาณหลักจะอยู่ในส่วนของค่าวัสดุ วงเงิน 2,101 ล้านบาท เช่น วัสดุวิทยาศาสตร์สนับสนุนห้องปฏิบัติการ ค่าอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ค่ายาในการรักษาโรคโควิด-19 ค่าเวชภัณฑ์ในการปฏิบัติการในพื้นที่ต่าง ๆ ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับ อสม. ซึ่งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 1,228 ล้านบาท ตามที่มีรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้ก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย

นอกจากนี้เป็นงบประมาณสำหรับค่าตอบแทน เช่น ค่าเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ค่าล่วงเวลา ค่าล่าม วงเงิน 1,625 ล้านบาท ค่าใช้สอยอื่น 872 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยค้างจ่ายปี 2563 ค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินจากสิทธิผู้ป่วยค้างจ่าย และค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ปีงบประมาณ 2563

“เป้าหมายการดำเนินการครั้งนี้ คือ ทุกคนในประเทศไทย ลดป่วย ลดการเสียชีวิต โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส ให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อโควิด-19 สามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ ช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Back to top button