สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ม.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 13 ม.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 ม.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ โดยล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แล้ว และกำลังส่งญัตติการถอดถอนปธน.ทรัมป์ให้วุฒิสภาพิจารณาเป็นลำดับต่อไป ส่วนดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นที่ปลอดภัยและสามารถต้านทานวัฎจักรทางเศรษฐกิจได้ดี (defensive stocks) เช่นหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,060.47 จุด ลดลง 8.22 จุด หรือ -0.03% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,809.84 จุด เพิ่มขึ้น 8.65 จุด หรือ +0.23% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,128.95 จุด เพิ่มขึ้น 56.52 จุด หรือ +0.43%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากข่าวการควบรวมกิจการของบริษัทในยุโรป แต่ตลาดปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 409.07 จุด เพิ่มขึ้น 0.46 จุด หรือ +0.11%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,662.67 จุด เพิ่มขึ้น 11.70 จุด หรือ +0.21% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,939.71 จุด เพิ่มขึ้น 14.65 จุด หรือ +0.11% แต่ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,745.52 จุด ลดลง 8.59 จุด หรือ -0.13%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (13 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั่วยุโรป และการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะใกล้นี้
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,745.52 จุด ลดลง 8.59 จุด หรือ -0.13%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ม.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งสต็อกน้ำมันเบนซินและน้ำมันกลั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 30 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 52.91 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 52 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 56.06 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นในเดือนธ.ค. รวมทั้งแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสหรัฐ ซึ่งทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ประกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 10.7 ดอลลาร์ หรือ 0.58% ปิดที่ 1,854.9 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 13.7 เซนต์ หรือ 0.54% ปิดที่ 25.572 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 42.9 ดอลลาร์ หรือ 4.02% ปิดที่ 1,110.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 20.90 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 2,397.10 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ม.ค.) ขานรับความหวังที่ว่า รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.30% แตะที่ 90.3600 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.88 เยน จากระดับ 103.80 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8879 ฟรังก์ จากระดับ 0.8868 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2697 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2723 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2154 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2201 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3630 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3663 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7743 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7769 ดอลลาร์สหรัฐ