“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” แนะยางล้อไทยเร่งปรับลดต้นทุน รับมือสหรัฐจ่อเก็บภาษี AD

“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” แนะยางล้อไทยเร่งปรับลดต้นทุน รับมือสหรัฐจ่อเก็บภาษี AD


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.63 ต่อกรณีการฟ้องร้องเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty : AD) ของสินค้ายางล้อรถยนต์นั่งและรถบรรทุกเล็กที่สหรัฐฯนำเข้าจากไทยนั้น จากการสอบสวนเบื้องต้นพบข้อมูลบ่งชี้ว่ายางล้อจากไทยอาจมีการทุ่มตลาดจริง เช่นเดียวกันกับอีก 3 ชาติที่โดนข้อหาเดียวกัน ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเวียดนาม ซึ่งแม้ว่าผลการสอบสวนจะไปสิ้นสุดจริงในช่วงกลางปี 2564 แต่ระหว่างนี้บริษัทผู้นำเข้ายางล้อที่โดนเรียกเก็บภาษี AD ก็จะต้องชำระภาษีชั่วคราวสำหรับการนำเข้ายางล้อจากไทยแล้ว (ได้คืนในภายหลังหากถูกตัดสินไม่ผิดจริงหรือภาษี AD ที่ต้องเสียจริงน้อยกว่าอัตราดังกล่าว)

จากประเด็นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ไทยโดนตัดสินในเบื้องต้นว่ามีความผิดจากการทุ่มตลาดของสินค้ายางล้อรถยนต์นั่งและรถบรรทุกเล็กนี้ แม้ผลตัดสินสุดท้ายจะไปจบที่ประมาณกลางปี 2564 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินภาษี AD ชั่วคราว หรือเงินประกันที่ต้องเสียไปก่อนระหว่างที่การไต่สวนยังไม่สิ้นสุดนี้ ซึ่งแม้จะเรียกคืนได้เป็นรายบริษัทไปในภายหลังหากสุดท้ายแล้วไม่พบความผิดหรือต้องเสียภาษี AD จริงในระดับต่ำกว่าที่ถูกเรียกเก็บชั่วคราวไปก่อนหน้าก็ตาม แต่ย่อมส่งผลต่อการส่งออกยางล้อรถยนต์ของไทยได้ในระยะสั้นระหว่างรอผลการไต่สวนไม่มากก็น้อย ทำให้กลายมาเป็นต้นทุนเพิ่มให้กับยางล้อนำเข้าจากไทย โดยระดับผลกระทบขึ้นอยู่กับว่าบริษัทยางล้อที่ส่งออกจากไทยจะมีแหล่งผลิตอื่นที่สามารถผลิตยางรุ่นเดียวกันและส่งออกไปทดแทนได้ด้วยต้นทุนที่ดีกว่าได้หรือไม่

“การที่ต้นทุนการส่งออกของไทยต้องเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราวดังกล่าวกว่าครึ่งปี ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกยางล้อรถยนต์ไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง” ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างที่ผลการตัดสินยังไม่สิ้นสุด แต่ไทยกลับได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้วจากการต้องเสียภาษี AD ชั่วคราว ส่งผลให้คาดการณ์ว่า การส่งออกยางล้อระยนต์นั่งและรถบรรทุกเล็กรวมกันของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อาจส่งออกได้เพียง 18.50 – 19.20 ล้านเส้น ซึ่งน้อยกว่าระดับศักยภาพที่ไทยจะทำได้หากไม่ต้องเสียภาษี AD ชั่วคราว และแม้ว่ายอดส่งออกรวมจะขยายตัวก็จริงที่กว่า 1-5% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แต่เป็นเพราะในปี 2563 ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สหรัฐฯ นำเข้ายางล้อลดน้อยลงมากจากทั่วโลก โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ซึ่งไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ในส่วนของครึ่งหลังของปี 2564 อาจต้องรอดูผลการตัดสินสุดท้ายอีกครั้งว่าจะออกมาในทิศทางใด โดยนอกจากอัตราภาษี AD ที่มีส่วนสำคัญต่อทิศทางการส่งออกยางล้อของไทยแล้ว อัตราการแข็งค่าของค่าเงินบาทจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งอาจจะเป็นคู่แข่งการส่งออกยางล้อของไทยได้ในระยะสั้นนี้

สำหรับในระยะข้างหน้า ประเด็นเรื่องความสามารถในการลดต้นทุน น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยธุรกิจยางล้อในไทยรอดพ้นจากถูกกีดกันด้วยมาตรการการค้าต่างๆ หลังสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศมีแนวโน้มจะยกระดับใช้มาตรการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้ากับคู่ค้าระหว่างประเทศมากขึ้นนับจากนี้ เนื่องจากการมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่ง จะทำให้ธุรกิจสามารถตั้งราคาที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน และลดโอกาสโดนมาตรการกีดกันการค้าจากประเทศอื่นๆ ด้วย

โดยแนวทางหนึ่งที่ธุรกิจผลิตยางล้อในไทยควรเร่งปรับใช้ โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทกำลังอยู่ในช่วงแข็งค่า คือ การเร่งลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการผลิตยางล้อเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันบางบริษัทที่มีฐานผลิตในไทยก็ได้เริ่มนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เป็นหลักในกระบวนการผลิต โดยจะเป็นสิ่งที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตยางล้อได้ในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงอีกหลายประการในยุค New Normal ได้อีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ ไทยยังพอมีโอกาสในการรักษาความสามารถในการแข่งขันได้อยู่ หากผู้ผลิตยางล้อในไทยเร่งพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนการแข่งขันในระยะยาวลงอีกได้สำเร็จ อาจช่วยพลิกให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศกลับฟื้นคืนมาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากไทยมีต้นทุนหลักทางธรรมชาติที่ดีกว่าประเทศคู่แข่งอยู่ จากการที่ไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกยางพาราคุณภาพดีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ต้นทุนหลักโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะสำหรับยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กยังดีกว่าประเทศอื่นมาก

“นอกจากนี้ หากเทียบกับกรณีที่จีนเคยย้ายฐานมาลงทุนในอาเซียน หลังจากโดนเรียกเก็บภาษี AD ในปี 2558 แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า โอกาสที่จะเกิดการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศอื่นนั้นมีน้อยกว่า” บทวิเคราะห์ระบุ

Back to top button