CPF สานต่อโครงการ “Faster Payment” หนุนคู่ค้า SMEs ฝ่าวิกฤติ “โควิด-19”
CPF สานต่อโครงการ "Faster Payment" หนุนคู่ค้า SMEs ฝ่าวิกฤติ "โควิด-19"
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า CPF มีความเป็นห่วงสภาพคล่องของคู่ค้าธุรกิจโดยเฉพาะ ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) หรือที่เป็นรายบุคคลที่กำลังฟื้นตัวและมีความเสี่ยงจะถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ บริษัทฯ จึงสานต่อการดำเนินโครงการ “Faster Payment” ต่อเนื่อง โดยการบริษัทฯ ชำระเงินค่าสินค้าและบริการ หรือให้เครดิตเทอมภายใน 30 วันแก่คู่ค้าเอสเอ็มอีที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และเป็นรายบุคคลประมาณ 6 พันราย เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องของคู่ค้าเอสเอ็มอีให้สามารถรักษาธุรกิจเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง และมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
โดย CPF ดำเนินโครงการ Faster Payment ขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือคู่ค้าเอสเอ็มอีของซีพีเอฟที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มียอดสั่งซื้อสินค้าหรืองานลดลงติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือน ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้จนต้องปิดกิจการไป และก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมเป็นลูกโซ่
“การดำเนินโครงการ Faster Payment เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ในการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในห่วงโซ่คุณค่าผลิตอาหารของซีพีเอฟเติบโตไปด้วยกัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศฝ่าวิกฤตโควิดครั้งนี้ได้”
ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินโครงการฯ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คู่ค้าเอสเอ็มอีของซีพีเอฟได้รับประโยชน์จากการได้รับเงินค่าสินค้าและบริการจากซีพีเอฟได้ภายใน 30 วัน ช่วยเสริมความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้านการเงินของเอสเอ็มอี ช่วยให้คู่ค้าเอสเอ็มอีรักษาคนงาน ไม่ต้องปิดกิจการ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีเงินลงทุนมาขยายหรือต่อยอดธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขันได้อีกด้วย
ด้านนายพีรณัฐ หุ่นธานี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพาที จำกัด กล่าวว่า สยามพาทีเป็นคู่ค้าของซีพีเอฟให้บริการปั๊มและวาล์วอุตสาหกรรม ในจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดสั่งซื้อน้อยลงมาก การได้รับเครดิตเทอมภายใน 30 วันช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเข้ามาในระบบเร็วขึ้น ช่วยเอื้อให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนที่จะขยายงานรองรับคำสั่งซื้อใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องกู้เงิน ช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ และยังนำเงินไปใช้ปรับปรุงสภาพการทำงานที่ดีขึ้นให้กับลูกจ้างอีกด้วย
ขณะที่นายกฤษฎา สิงหเดชา บริษัท ไวภพ วิศวกรรม จำกัด บริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นคู่ค้าซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการเครดิตเทอม 30 วันของซีพีเอฟ มีประโยชน์มากกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว หลังปริมาณงานและยอดสั่งซื้อลดลงมาก ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง
นอกจากนี้ นางสาวนฤมล แสงมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอ็มพี ยูนิฟอร์ม จำกัด ผู้ผลิตชุดยูนิฟอร์มให้อุตสาหกรรมอาหารทั่วประเทศ เสริมว่า การได้รับเครดิตเทอมที่เร็วขึ้นช่วยสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีรายเล็กสามารถขยายการลงทุนเพิ่มเพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องกู้เงินซึ่งเป็นการเพิ่มภาระดอกเบี้ย และเป็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว