เอสแอนด์พีฯ ชี้คุณภาพสินทรัพย์ “แบงก์ไทย” วูบยาว 2 ปี! เงินกู้ไม่ก่อรายได้พุ่ง 6%
เอสแอนด์พีฯ ชี้คุณภาพสินทรัพย์ “แบงก์ไทย” วูบยาว 2 ปี! เงินกู้ไม่ก่อรายได้พุ่ง 6%
เอสแอนด์ พี โกลบัล เรตติ้งส์ ระบุว่า คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้ที่ไม่ก่อรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 6% เทียบกับที่อยู่ในอัตรา 3.3% เมื่อปี 2563 เมื่ออิงจากธนาคารที่เอสแอนด์พีจัดอันดับ และมีอัตราเฉลี่ยทั้งระบบเมื่อปี 2562 ที่ 3%
โดยสัดส่วนเงินกู้ที่บันทึกเป็นการเลื่อนชำระหนี้ ได้ลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 20% สำหรับธนาคารไทยที่จัดว่าเป็นธนาคารใหญ่ เทียบกับที่มีอัตราเฉลี่ยทั้งระบบ 31% ในช่วงแรกที่มีการเลื่อนชำระหนี้ในกลางปี 2563
ตามความเห็นของเอสแอนด์พีฯ มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราวไม่น่าจะลดความเสี่ยงให้กับลูกหนี้ที่มีความเปราะบางมากขึ้นและอ่อนแอมากกว่าได้ แม้ว่ามาตรการอาจะลดความตึงเครียดและเลื่อนการรับรู้เงินกู้ที่มีปัญหาได้
โดยความเสี่ยงจากสินเชื่อมีมากอยู่แล้วในประเทศไทยเนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูงมาก และมีภาวะที่ยากลำบากต่อบริษัทเอสเอ็มอีซึ่งเป็นบริษัทส่งออกเป็นส่วนใหญ่ โดยบางบริษัทกำลังกำลังถูกบีบให้ออกจาการแข่งขัน จากผู้ผลิตในเวียดนามและกัมพูชาที่มีประสิทธิภาพในเรื่องต้นทุนมากกว่า
เอสแอนด์พี คาดว่า การขาดทุนสินเชื่อของภาคธนาคารไทยยังคงเพิ่มขึ้น 1.9% ของสินเชื่อคงค้างในปีนี้ จาก 1.2% ในปี 2562 ส่วนต้นทุนสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นทั้งหมด ซึ่งได้ฉุดผลตอบแทนสินทรัพย์ของธนาคารที่ได้รับการจัดอันดับลงเหลือ 0.7% ในปี 2563 เทียบกับที่มีอัตราเฉลี่ยทั้งระบบ 1.4% ในปี 2562
เอสแอนด์พี โกลบัล เรตติ้งส์ ประมาณการว่าจะมีการฟื้นตัวในรูปตัววีในปี2564 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของประเทศไทยจะโต 5% ประเทศไทยต้องมีการฟื้นตัวในอัตรานี้เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับภาวะสินเชื่อ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล้าช้าไปเป็นเวลานาน อาจทำให้สถานการณ์ของธนาคารภายในประเทศย่ำแย่ลง เนื่องจากการกู้หนี้ของครัวเรือนสูงและภาคเอสเอ็มอี อ่อนแอ