BCP คาด Q3 ยังมีกำไร เตรียมนำ “บ.บีซีพีจี” ทำธุรกิจไฟฟ้าเข้าตลาดหุ้นในปีหน้า

BCP คาด Q3/58 ยังมีกำไร เตรียมนำ “บ.บีซีพีจี” ซึ่งทำธุรกิจไฟฟ้าเข้าตลาดหุ้นในปี 59 โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 300MW ก่อนนำเข้าตลาดหุ้น ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิต 118MW เตรียมเสนอบอร์ดซื้อโรงไฟฟ้าใต้พิภพในมาเลเซียจำนวน 30%


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/58 คาดว่าจะยังคงมีกำไรสุทธิ แม้คาดว่าอาจจะเผชิญกับการขาดทุนสต็อกน้ำมัน หลังมองราคาน้ำมันดิบ ดูไบ เฉลี่ยในไตรมาสนี้จะอยู่ที่ราว 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเฉลี่ย 61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2 ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) ในช่วงไตรมาส 3 จะอยู่ที่ราว 8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อ่อนตัวลงจาก 10.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลไตรมาส 2 เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น

อย่างไรก็ตามในไตรมาส 3/58 คาดว่าจะสามารถกลั่นน้ำมันเฉลี่ยได้เพิ่มขึ้นมาที่ 1.15 แสนบาร์เรล/วัน จากเฉลี่ยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.12 แสนบาร์เรล/วันในไตรมาส 2 หลังจากในเดือนส.ค. บริษัทสามารถกลั่นน้ำมันได้สูงถึง 1.18 แสนบาร์เรล/วัน โดยปัจจุบัน BCP มีกำลังการกลั่นน้ำมันเต็มที่ 1.2 แสนบาร์เรล/วัน และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 1.4 แสนบาร์เรล/วัน ในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย

ขณะที่บริษัทเตรียมนำหุ้นบริษัท บีซีพีจี จำกัด ซึ่งทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 59 หากภาวะตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ซึ่งจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) สัดส่วน 30% ของทุนจดทะเบียน เพื่อนำไปขยายธุรกิจ โดยมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 300 เมกะวัตต์ (MW) ก่อนนำเข้าตลาดหุ้น จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 118 เมกะวัตต์ ขณะที่ล่าสุดเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในเดือนก.ย.เพื่อซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ ขนาด 30 เมกะวัตต์ในมาเลเซีย

โดยหลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 ต.ค.58 อนุมัติแผนการนำบริษัท บีซีพีจี จำกัดเข้าตลาดหุ้นแล้ว ก็จะดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า โดยโอนธุรกิจไฟฟ้าทั้งหมดมาอยู่ในบริษัท บีซีพีจี คาดว่าการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จทันภายในปีนี้ ซึ่งความคืบหน้าปัจจุบันบริษัทได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อนำหุ้นเข้าจดทะเบียนแล้ว ขณะที่ตามแผนการขยายธุรกิจไฟฟ้ามีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 300 เมกะวัตต์ ก่อนนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น และจะเพิ่มเป็น 500 เมกะวัตต์ภายในปี 63 หรืออีก 4-5 ปีข้างหน้า

สำหรับการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P)  ปัจจุบันเป็นการลงทุนผ่าน  Nido Petroleum Limited (Nido) นั้น ยังให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อแหล่งปิโตรเลียมในแถบเอเชียแปซิฟิกด้วย เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงในช่วงนี้เป็นโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการ ซึ่งปัจจุบันเจรจาอยู่หลายดีล ซึ่งตามแผนการลงทุน 5 ปีบริษัทจะใช้เงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนในธุรกิจ E&P ขณะที่การผลิตปิโตรเลียมของ Nido อยู่ที่ระดับ 6 พันบาร์เรล/วัน มีต้นทุนการผลิต 38 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากต้นปี 58 ที่มีต้นทุนการผลิตที่ 43 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ยังมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) เป็นบวกอยู่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันธุรกิจ E&P คิดเป็นราว 3-4% ของ EBITDA รวมของบริษัท

 

Back to top button