รมว.คมนาคมพร้อมดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-เชื่อมสู่ AEC

รมว.คมนาคมพร้อมดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-เชื่อมสู่ AEC


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังรับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจแล้วเสร็จ แนวทางการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ต้องขับเคลื่อนให้นำมาสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างคุณภาพชีวิตให้ชนบท และส่งเสริมการท่องเที่ยว

โดยแบ่งแยกออกเป็น 3 นโยบายสำคัญ คือ 1. ต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้สอดคล้องกับแนวทางดำเนินงาน 2. การจัดสรรงบประมาณที่เกิดขึ้นจะต้องบริหารแหล่งเงินอย่างเหมาะสม ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน รายได้ และเงินกู้ทั้งใน และต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน นโยบายส่วนที่ 3 ได้สั่งการให้พิจารณาแผนงานจำเป็นเร่งด่วน ประกอบไปด้วย

1.โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งได้วางนโยบายอยากให้มีการพัฒนาเชื่อมต่อจากสถานีพญาไทไปยังดอนเมืองให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 60% มีการเร่งรัดให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน

3.แผนการแก้ไขปัญหากรมการบินพลเรือน(บพ.) เรื่องความปลอดภัยที่มีนัยสำคัญ(SSC) จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะต้องเร่งดำเนินการตามแผนที่เคยระบุมาแล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ ได้กระชับกรอบเวลาแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.59 จากเดิมที่วางไว้ในเดือน ส.ค.59

นอกจากนโยบายหลักที่ได้รับมอบหมาย รองนายกฯ ยังสั่งการให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานไปยังกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเฉพาะแนวระเบียงเศรษฐกิจได้แก่ อ.แม่สอด – มุกดาหาร ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ขยายถนนแล้ว รอการขยายระบบทางราง

โดยล่าสุดจะขับเคลื่อนให้สะพานไทย – เมียนมาร์ แห่งที่ 2 เดินหน้าก่อสร้างเพื่อให้ทันรองรับการเติบโต ขณะเดียวกันโครงการเชื่อมโยงฝั่งตะวันออกและตะวันตกก็จะเร่งรัดให้ความสำคัญ เช่น รถไฟเชื่อมโยงกาญจนบุรี – กรุงเทพฯ – แหลมฉบัง

ทั้งนี้แนวทางการพัฒนาโครงการของกระทรวงฯ หลังจากนี้จะต้องสามารถสนับสนุนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ หรือปิโตรเคมี

ในส่วนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 17 โครงการ วงเงินลงทุน 1.6 ล้านล้านบาท ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ได้ภายใน 1-2 ปีนี้ และยืนยันว่าทุกโครงการมีความสำคัญ โดยขณะนี้สั่งให้แต่ละหน่วยงานกลับไปจัดทำกรอบการดำเนินโครงการอย่างละเอียดกลับมาเสนอภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้สร้างความชัดเจนและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าจะเข้าร่วมโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ตอนนี้ยังไม่มีแนวทางการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Fund) เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะต้องการันตีผลตอบแทนให้กับนักลงทุนตั้งแต่ต้น ทำให้เป็นจุดอ่อน เหตุเพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนต่ำ ทำให้เอกชนไม่ลงทุน

ดังนั้นจึงต้องใช้โมเดลให้รัฐลงทุนและให้เอกชนเข้าบริหาร แต่หากจะมีการจัดตั้งกองทุนจริงโครงการมอเตอร์เวย์มีความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งคงต้องกลับมาพิจารณาแนวทางกันอีกครั้ง เพราะการขับเคลื่อนงานเร็วสุดจึงต้องให้เลือกแนวทางกู้เงินไปก่อน และหากเอกชนจะเข้ามากลางคันก็สามารถทำได้

Back to top button