จับตา! SPCG เซ็น MOU “พีอีเอ เอ็นคอม” ลุยโซลาร์ฟาร์มเฟสแรก 500 MW ใน EEC วันนี้

จับตา! SPCG เซ็น MOU "พีอีเอ เอ็นคอม" ลุยโซลาร์ฟาร์มเฟสแรก 500 MW ใน EEC วันนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 ก.พ.64) เวลา 11.00 น. บริษัท เอสพีซีจี จํากัด(มหาชน) หรือ SPCG ร่วมกับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ บริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด (SET Energy) จะจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือการศึกษา พัฒนาวิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับ โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์ ) และพลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตพื้นที่เขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก (EEC)

พร้อมกันนี้ SPCG จะเดินหน้าพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มเฟสแรก 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC ได้ตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ปะยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ EEC เป้าหมายระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ (MW) ตั้งแต่ปี 2564-2569 มูลค่าการลงทุนกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท จะดําเนินการโดย SET Energy ที่มี SPCG และ PEA ENCOM

โดยเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบาย เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ได้เห็นชอบในหลักการโครงการจัดหาพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) ในพื้นที่ EEC โดยมอบหมายให้ทางสํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอกระทรวงพลังงานนําเข้าบรรจุในแผนพัฒนา กําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)

สําหรับความคืบหน้าของโครงการนั้น บริษัทผู้พัฒนาโครงการได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว ในราคาค่าไฟฟ้าเท่ากับราคาขายส่งที่กฟภ.รับซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ กฟภ.จะทําหน้าที่เป็นผู้แบคอัพระบบเพื่อความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับลูกค้าในพื้นที่

โดยในแผนงานที่ทางสกพอ.นําเสนอให้กพอ.เห็นชอบนั้น มีการประเมินถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง นั้น ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4,475 เมกกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งผลจากส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC มากขึ้น ภายในปี 2580

ขณะที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ ตามแผนการ พัฒนาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่EEC จึงกําหนดสัดส่วนให้การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 70:30% ทําให้จะต้องมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกําลังการผลิตประมาณ 3,000 เมกะวัตต์

ด้าน นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของที่ดินสําหรับการลงทุนผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ EEC ตามเป้าหมายระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2569 แล้ว โดยอยู่ใกล้กับแนวสายส่งของกฟภ. เพื่อให้ง่ายต่อการจ่ายไฟ ในลักษณะ Distributed Generation

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน จะสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งใช้ เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเป้าหมายของ EEC ซึ่งถือเป็นความท้าทายของ SPCG ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย โดยมีโครงการที่จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบในประเทศแล้ว 36 โครงการกําลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาค ตะวันออก พ.ศ.2561 ถือเป็นกฏหมายที่ออกมาเพื่อเอื้อต่อการชักจูงการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยในมาตรา 9 ระบุสาระสําคัญว่าหากคณะกรรมการนโยบายฯ คือ กพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นว่ามี กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคําสั่งใดก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือ ล่าช้า มีความซำ้ซ้อนหรือ เป็นอุปสรรคก็สามารถนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาให้มีการดําเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคําสั่งดังกล่าว หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อให้การพัฒนา EEC มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็วได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และต้องไม่เลือกปฏิบัติ

อนึ่ง มติของกพอ.ที่ออกมา จะมีผลผูกพันกับกระทรวงและหน่วยงานทุกหน่วยที่เป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นกระทรวงและหน่วยงานที่สําคัญ อาทิ กระทรวงการคลัง พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ คมนาคมพาณิชย์ ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แรงงาน สาธารณสุข ศึกษาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาดไทย กลาโหม รวมทั้ง สํานักงบประมาณ สํานักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และ สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ เมื่อกพอ.ได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบเรื่องใดแล้ว จะมีการนําเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วง หรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติของกพอ.และเมื่อ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ให้ใช้บังคับได้

นอกจากนี้ มาตรา 37 ของพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ยังระบุสาระสําคัญที่ให้กพอ.มีอํานาจอนุมัติอนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทานแก่บุคคลซึ่งดําเนินการอันเป็นประโยชน์โดยตรงในพื้นที่ EEC ตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงอํานาจ ของกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน ด้วย แต่หากเป็นการดําเนินการภายนอกพื้นที่ EEC จะต้องเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกันและต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี และหน่วยงานที่ผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นๆ

Back to top button