ก.ล.ต.คาดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติต้นปี 59 หลังร่างกม.เสร็จปลายปีนี้
ก.ล.ต.คาดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติต้นปี 59 หลังร่างกม.เสร็จปลายปีนี้
นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำหรับร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (ซูเปอร์โฮลดิ้ง)นั้น คาดว่าจะออกมาได้ในช่วงปลายปีนี้ และคาดว่าจะสามารถจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติได้ภายในต้นปี 59
โดยเนื้อหาในกฎหมายฉบับดังกล่าวได้แบ่งรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจะอยู่ภายใต้การควบคุมของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และกลุ่มที่สองอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
กลุ่มแรกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ มี 12 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 6 แห่ง คือ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.การบินไทย (THAI) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบมจ.อสมท.(MCOT) ส่วนบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯอีก 6 แห่ง เช่น บมจ.ทีโอที(TOT) บมจ.กสท.โทรคมนาคม(CAT) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด และบริษัท สหโรงแรมไทย จำกัด
ส่วนรัฐวิสาหกิจที่เหลืออีก 44 แห่งจะมีคนร.เป็นผู้ดูแลโดยตรง ซึ่งต้องมีการเสนอแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน และเมื่อคนร. อนุมัติแผนแล้วต้องประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแผนดังกล่าวข้อกำหนดว่าห้ามรัฐมนตรีรื้อแผนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
“บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเมื่อจัดตั้งขึ้นในต้นปีหน้า ส่วนหุ้นของรัฐในรัฐวิสาหกิจ 12 แห่งจะโอนให้บรรษัททั้งหมด และกำไรของบรรษัทจะส่งเข้าเป็นเงินของแผ่นดิน และห้ามคลังนำหุ้นบรรษัทนี้ออกจำหน่ายไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ส่วนรัฐวิสาหกิจที่เหลืออีก 44 แห่งจะค่อยๆแก้กฎหมายไป เพราะแต่ละที่มีกฎหมายเฉพาะในการจัดตั้งเป็นบริษัทของตัวเอง ซึ่งเหลืออีก 44 ฉบับที่จะต้องทยอยแก้”นายชาลี กล่าว
สำหรับหน้าที่ของก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องกับบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ คือ การเข้าไปดูแลเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ 7 ข้อ ประกอบด้วย
1.รัฐบาลต้องมีการกำหนดยโยบายความเป็นเจ้าของ ซึ่งครอบคลุมเหตุผล และ ความจำเป็นในการที่ภาครัฐต้องเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจรวมถึงนโยบายความเป็นเจ้าของควรผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานภาครัฐระดับสูง เช่น รัฐสภา พร้อมเปิดเผยให้ประชาชนทราบ
2.บทบาทของภาครัฐในฐานะเจ้าของ โดยภาครัฐจะต้องมีหน้าที่กำหนดภาพรวม และ ติดตามการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องรายงาน และ เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชน
3.การแข่งขันกับภาคเอกชน ซึ่งโครงสร้างกฎหมาย และ กฎเกณฑ์ควรเอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยไม่มีการเสียเปรียบต่อธุรกิจเอกชน
4.การปฎิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมทำให้เกิดความโปร่งใสต่อผู้ถือหุ้นทุกราย โดยมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการสื่อสาร และ การรับฟังความคิดเห็นของผู้ถือหุ้น
5. ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย และ การดำเนินกิจการอย่างยั่งยืน โดยรัฐวิสาหกิจต้องไม่เป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่กิจกรรมการเมือง
6. ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งต้องมีการนำผู้ตรวจสอบภายนอกที่เป็นอิสระเข้ามาตรวจงบการเงินของบริษัทรัฐวิสาหกิจเป็นประจำทุกปี และ เป็นไปตามมาตรฐานสากล
7. ความรับผิดของของคณะกรรมการ โดยกรรมการทุกคนควรผ่านกระบวนการสรรหาที่พิจารณาจากคุณสมบัติความรู้ และ ประสบการณ์ที่เหมาะสม รวมถึงกำหนดกลไกที่ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับกรรมการผู้แทนจากภาครัฐ