เปิด 9 หุ้น SET100 ลุ้นปี 64 เทิร์นอะราวด์! รับ “โควิด” เริ่มซา-ศก.ฟื้นตัวเด่น
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเ …
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท) ที่คาดว่าผลการดำเนินงานปี 2564 จะกลับมาทำกำไร หลังจากปีที่ผ่านมาธุรกิจพลิกขาดทุน เนื่องจากรับผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างหนัก
โดยกลุ่มหุ้น SET100 ที่คาดว่าผลประกอบการปี 2564 จะฟื้นตัว และพลิกกลับมามีกำไรจากปีก่อน เนื่องจากมีแผนธุรกิจที่โดดเด่น อีกทั้งแนวโน้มการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เริ่มลดลง และเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว โดยมีหุ้นที่คัดเลือกมามีทั้งหมด 9 ตัว ได้แก่ SPRC,ESSO, BANPU, IRPC, MINT, AWC,CENTEL,TOP,MAJOR ดังนี้
เริ่มกันที่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 6,004.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113.79 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนอยู่ที่ 2,808.70 ล้านบาท
โดยาแนวโน้มผลประกอบการในปี 2564 มั่นใจจะพลิกกลับมามีกำไรจากปี 2563 ที่มีขาดทุนสุทธิ 6,005 ล้านบาท เนื่องจากการพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่มีปัจจัยลบใดที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ โดยปัจจัยลบสูงสุดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขณะนี้เกิดการระบาดรอบสองไปแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
ขณะที่องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) เริ่มมีมาตรการรับมือได้แล้วหลังจากเกิดการะบาดรอบแรก โดยสามารถรักษาความสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานได้ดีขึ้น จากปี 2563 ที่มีการระบาดรอบแรกแล้ว ส่งผลให้อุปสงค์หรือความต้องการลดลงอย่างมาก ขณะที่อุปทานหรือกำลังการผลิตไม่ลดลง ทำให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด
อย่างไรก็ตามประเมินว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย. 64) ค่าการกลั่นจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ค่าการกลั่นจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะเริ่มมีการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ตลาดมีความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดมากกว่าการระบาดครั้งแรก ขณะเดียวกันเมื่อการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา เครื่องบินเริ่มทำการบินมากขึ้น กำลังการกลั่นน้ำมันเครื่องบิน (Jet) จะฟื้นกลับมา โดยปีก่อนอยู่ที่ 1.5-1.6 แสนบาร์เรลต่อวัน จะเพิ่มเป็นเต็มกำลังการผลิตที่ 1.75 แสนบาร์เรลต่อวัน
โดยในปี 2564 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปกติจะมีงบลงทุนที่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดยแบ่งเป็นการลงทุนด้านความปลอดภัย และการลงทุนพัฒนาการกลั่น ขณะปีนี้ที่เพิ่มมาอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นงบที่ใช้เพื่อการศึกษาโครงการขยายธุรกิจของบริษัท เช่น การจ้างที่ปรึกษา / การหาข้อมูลทางเลือก ซึ่งบริษัทยังคงมุ่งเน้นต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโรงกลั่นน้ำมันที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือรองรับพลังงานทางเลือกใหม่ เช่น พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
ส่วนบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 7,911.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนอยู่ที่ 3,065.70 ล้านบาท คาดผลงานปีนี้จะฟื้นตัวเช่นกันจากราคาน้ำมันพุ่งแรงปีนี้
บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ESSO* (เป้าพื้นฐาน 9.9 บาท) ประเมินรับ Sentiment บวกจาก i) ราคาน้ำมันดิบบวกแรง หลังที่ประชุมโอเปกพลัส มีมติคงกำลังการผลิตน้ำมันต่อถึง เม.ย.64 (ลดความกังวลเรื่องการกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต) ii) ค่าการกลั่น ฟื้นตัวแรง (ตามคาด)
ด้านบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,786.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 223.10 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนอยู่ที่ 552.86 ล้านบาท
โดยในปี 2564 บริษัทยังมองหาโอกาสการเติบโตในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าของบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งตั้งเป้าจะปิดดีลโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในปี 2564 ประมาณ 1-2 โครงการ กำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ (MW) เบื้องต้นจะเป็นการเข้าควบรวม หรือซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจก๊าซที่ BANPU ได้เข้าไปลงทุนแล้วก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันในปี 2564 คาดว่าจะสามารถปิดดีลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 100-200 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันกลุ่มบ้านปูมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 3,309 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 2,403 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 906 เมกะวัตต์
สำหรับงบลงทุนในปี 2564 บริษัทตั้งไว้ที่ 156 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอีก 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะลงทุนใน Energy Technology Platform ของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด โดยงบลงทุนส่วนใหญ่ในปี 2564 จะเป็นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จะส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกของกลุ่มบ้านปู มีโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนามที่ COD รวมกันเป็น 68 เมกะวัตต์ รวมกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน กำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ที่ COD ไปแล้วเมื่อปีก่อน
อย่างไรก็ตามในปี 2564 การลงทุนด้านธุรกิจไฟฟ้า จะเน้นการเติบโตด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยยังมองโอกาสขยายการลงทุนในญี่ปุ่น จีน และเวียดนามเป็นหลัก รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นในแผน 5 ปี (ปี 2564-2568) สัดส่วนพลังงานสะอาดจะเติบโตมากที่สุด
ขณะที่ภาพรวมธุรกิจถ่านหินในปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยคาดว่าราคาเฉลี่ยปี 2564 จะอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่ตั้งเป้ายอดขายถ่านหินปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านตัน เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 38.8 ล้านตัน
บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุว่า แนวโน้มไตรมาส1/2564 คาดผลการดำเนินงานปกติพลิกเป็นกำไรเทียบเทียบไตรมาสก่อนหน้า,เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนยังได้รับปัจจัยหนุนจากราคาถ่านหินและราคาก๊าซฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ โดยราคาถ่านหินเฉลี่ยอ้างอิง NEX ใน ไตรมาส1/2564 อยู่ที่ US$85/ton โต26%QTD ส่วนราคาก๊าซฯ เฉลี่ยอ้างอิง Henry Hub อยู่ที่ US$2.8/MMBTU โต2%QTD รวมถึงปริมาณขายก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งก๊าซฯ Barnett ตั้งแต่ไตรมาส 4/2563 ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าจะเข้าช่วงฤดูกาลตั้งแต่ปลายไตรมาสและไม่ได้รับแรงกดดันจากเงินบาทแข็งค่าเหมือนในไตรมาส 4/2563
เบื้องต้นยังคงประมาณการปี 64 พลิกเป็นกำไรสุทธิ 2.4 พันล้านบาท แนวโน้มราคาถ่านหินและราคาก๊าซฯ โดยเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้นจากปีก่อนตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับธุรกิจไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า Hongsa จะกลับมาเดินเครื่องครบ 3 Unit รวมถึงรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นจากโครงการ SLG 396 MWe ที่จะ COD ภายใน ไตรมาส1/2564 แนะนำ ซื้อเก็งกำไร ประเมินราคาเหมาะสมปี 64 ที่ 12.00 บาท
ส่วนบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 6,151.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 423.98 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนอยู่ที่ 1,174.04 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะพลิกมีกำไรเนื่องจากแผนธุรกิจที่โดดเด่น
โดยแนวโน้มผลประกอบการในปี 2564 ฟื้นตัวอย่างชัดเจน บริษัทตั้งเป้าปี 2564 จะมีกำไรอย่างแน่นอน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนกว่า 6 พันล้านบาท หลังจากการดำเนินงานในช่วงต้นปีที่ผ่านมาพบว่าผลประกอบการเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งมั่นใจว่าในไตรมาส 1/2564 ผลประกอบการเป็นกำไรในระดับที่น่าพอใจ
ทั้งนี้ มองว่าภาพรวมผลการดำเนินธุรกิจในปี 2564 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี แม้ว่าทั่วโลกจะยังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยในส่วนของราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 53-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
บล.เคจีไอ ระบุว่า ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ขึ้นอีก 17% เป็น 5.20 พันล้านบาท และปี 2565 ขึ้นอีก 8% เป็น 5.8 พันล้านบาท เนื่องจากเราปรับเพิ่มสมมติฐาน spread ของ ABS ปีนี้ขึ้นจากเดิม 39% เป็น US$1,600/ton และปีหน้าขึ้นจากเดิม 20% เป็น US$1,500/ton เนื่องจาก spread ในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงมากที่ US$1,625/ton ในเดือนมกราคม จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ในบ้านในประเทศจีน
ยังปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้าเป็น 4.20 บาท จากเดิม 3.90 บาท เพื่อสะท้อนการปรับเพิ่มประมาณการกำไร โดยอิงจาก EV/EBITDA ที่ 8.0x และ normalized EBITDA ในช่วงปี 2564-65 นอกจากนี้ เรายังคงคำแนะนำซื้อ IRPC เนื่องจากเราคาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นใน ไตรมาส1/2564 จากมีกำไรจากสต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้น, base GRM เพิ่มขึ้น และ spread ของ PP และ ABS ยังอยู่ในระดับสูง
ด้านบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 21,407.34 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,697.93 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะพลิกมีกำไรเนื่องจากแผนธุรกิจที่โดดเด่น
โดยบริษัทคาดรายได้ในปี 2564 จะดีกว่าปี 2563 ที่มีรายได้อยู่ที่ 58,695.64 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ประกอบกับไมเนอร์ ฟู้ด ได้กลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตามรายได้คงยังไม่ได้กลับไปสูงเท่ากับปี 2562 ที่มีรายได้อยู่ที่ 129,889.11 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2564 ไมเนอร์ โฮเทลส์ เตรียมพร้อมสำหรับการกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งจากแนวโน้มทางธุรกิจเชิงบวกจากการกระจายวัคซีนในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามจะยังคงดำเนินมาตรการการบริหารจัดการห้องพัก มาตรการการลดค่าใช้จ่าย และกลยุทธ์ในการเพิ่มกิจกรรมทางธุรกิจ และจะสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วยธุรกิจการรับจ้างบริหารโรงแรมและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และการพักผ่อนเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของวิถีการดำเนินชีวิตที่ใส่ใจในสุขภาพ
ส่วนการดำเนินงานของไมเนอร์ ฟู้ด จะส่งเสริมธุรกิจการนั่งรับประทานอาหารภายในร้านด้วยนวัตกรรมใหม่และโปรแกรมความภักดี พร้อมไปกับส่งเสริมความแข็งแกร่งของแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหารเพื่อผลักดันยอดขาย รวมทั้งจะยังคงเพิ่มความสามารถในการทำกำไรด้วยมาตรการการลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับไมเนอร์ ไลฟ์ สไตล์ คาดว่าความมั่นใจและการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะฟื้นตัวเมื่อมีการกระจายของวัคซีนอย่างแพร่หลาย โดยจะยังคงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งบนเว็บไซต์ของแบรนด์เองและแพลตฟอร์มการตลาดออนไลน์อื่น
ขณะเดียวกัน บริษัทจะยังคงดำเนินมาตรการการควบคุมค่าใช้จ่าย ลดการลงทุน และบริหารจัดการฐานะทางการเงินอย่างมีวินัย เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในปี 2564 ยังคงลดต้นทุนต่อเนื่อง หลังจากในช่วงไตรมาส 2-4/2563 บริษัทลดต้นทุนได้ถึง 42% มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 25%
นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามลดการไหลออกของกระแสเงินสดจ่าย โดยการลดงบลงทุนในปี 2564 ลง 52% เหลือ 4,000-5,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ช่วยรักษาสภาพคล่องได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสภาพคล่อง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2564 บริษัทมีเงินสดในมือประมาณ 25,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 28,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการดำเนินงานในอนาคต
รวมทั้งการจัดการงบดุล โดยบริษัทพิจารณาขายโรงแรม 4-5 แห่ง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2-3/2564 มีเงินเข้ามาประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท และเพิ่มความแข็งแกร่งของส่วนผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการออกใบสำคัญแสดงสิทธิให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งมีวันครบกำหนดในปี 2566 (MINT W-8 Warrants) และปี 2567 (MINT W-9 Warrants) โดยการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิจะช่วยเสริมสร้างฐานส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทให้เพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2566-2567
ส่วนบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,881.23 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,054.23 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะพลิกมีกำไรเนื่องจากแผนธุรกิจที่โดดเด่น
โดย AWC ยังเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในระยะยาว และที่ผ่านมา ดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมายของแผนธุรกิจที่วางไว้ ด้วยการเข้าซื้อทรัพย์สินกลุ่ม 3 (กลุ่มโรงแรม) และการเปิดโครงการ โรงแรมมีเลีย เกาะสมุย, โรงแรมบันยันทรี กระบี่ เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าว ได้สร้างความมั่นคงให้กับพอร์ตทรัพย์สินของ AWC ทำให้ ณ สิ้นปี 2563 AWC มีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 125,696 ล้านบาท เติบโต 26% จากปี 2562 ที่ 99,549 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามแผนปรับปรุง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ และยังมีนโยบายในการลดค่าเช่า ให้กับผู้ประกอบการร้านค้าเช่าในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า เพื่อให้สามารถผ่านวิกฤตไปได้ด้วยกันอย่างดีที่สุด
ขณะที่กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ ยังคงได้รับผลกระทบจากภาพรวมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของบริษัท อย่างไรก็ตาม AWC ได้เข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังวางแผนโครงการ “AWC INFINITE LIFESTYLE: INFINITE POINT OF HAPPINESS” ตอบรับนโยบายการท่องเที่ยวของภาครัฐ และส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้น และเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง
ส่วนบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 2,775.11 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,744.24 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะพลิกมีกำไรเนื่องจากแผนธุรกิจที่โดดเด่น
โดยเครือเซ็นทารามีความมุ่งมั่นก้าวขึ้นเป็น 1ใน 100 ของกลุ่มแบรนด์โรงแรมชั้นนำของโลก ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยการเดินหน้าขยายโรงแรมไปยังทวีป และตลาดใหม่ ๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ในปี 2564 ยังคงเชื่อมั่นในความแข็งแกร่ง และศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงมีแผนเปิดโรงแรม และรีสอร์ตแห่งใหม่ 8 แห่ง ใน 7 ประเทศทั่วโลก พร้อมแบรนด์สำคัญน้องใหม่อย่าง “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ” ด้วยคอนเซ็ปต์ทันสมัย ซึ่งจะเปิดให้บริการในประเทศไทยเป็นครั้งแรกของโลก และเปิดบริการทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลางต่อไป
สำหรับแผนเปิดโรงแรม และรีสอร์ตแห่งใหม่ คือ เซ็นทารา รีเซิร์ฟ สมุย เป็นรีสอร์ตหรูแห่งแรกภายใต้แบรนด์ รีเซิร์ฟ ตั้งอยู่บนพื้นที่เดิมของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท สมุย (บูรณะใหม่ทั้งหมด) ด้วยขนาดห้องพักหรูบริการ จำนวน 184 ห้อง รวมทั้งห้องพักประเภท พูล สวีท และพูล วิลล่าติดหาด โดยกำหนดเปิดให้บริการในเดือน เม.ย. 2564
ด้านบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 3,301.41 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,276.68 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะพลิกมีกำไรเนื่องจากแผนธุรกิจที่โดดเด่น
โดยแนวโน้มธุรกิจในปี 2564 คาดจะฟื้นตัวจากปี 2563 ที่มีผลขาดทุนประมาณ 3,300 ล้านบาท โดยคาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลกจะฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงในแต่ละประเทศได้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง สำหรับในช่วงไตรมาส 1/2564 คาดจะยังคงมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2563 จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
โดยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดจะมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ครอบคลุม 60% ก็จะส่งผลให้การติดเชื้อลดน้อยลง จะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคกล้ากลับไปใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดน้ำมันอากาศยานจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ค่าการกลั่น (GRM) ในปี 2564 จะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ระดับ 3.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปี 2563 ที่ลดลงไปเหลือ 0.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดราคาน้ำมันจะอยู่ในช่วงระดับ 55-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากสายสัมพันธ์ที่ดีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังคงมาตรการปรับลดกำลังการผลิตอยู่ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี
สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 4 ปี (ปี 2564-2567) บริษัทวางงบลงทุนไว้ราว 2,248 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ประมาณ 1,903 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในปี 2564 จะใช้งบลงทุนประมาณ 1,500-1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้านบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR รายงานผลการดำเนินงานสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขาดทุนสุทธิ 527.49 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,170.03 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการดำเนินงานปีนี้จะพลิกมีกำไรเนื่องจากแผนธุรกิจที่โดดเด่น
โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัท คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศคลี่คลายมากขึ้น และการที่มีวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศและในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้
หนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ดส์ที่เลื่อนฉายมาจากปี 63 กลับมาทยอยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง และทางสตูดิโอสร้างหนังยืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนวันฉาย หลังจากโรงภาพยนตร์ในสหรัฐฯกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง เพราะผู้สร้างภาพยนตร์ก็ต้องการดึงทุนสร้างคืนให้เร็วที่สุด ทำให้ดึงดูดลูกค้ากลับมาเข้าชมหนังในโรงภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป โดยที่จะค่อยๆเห็นการฟื้นตัวกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านผลงานของบริษัท หลังจากผ่านจุดต่ำสุดของปีนี้ไปแล้วในช่วงไตรมาส 1/64
ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมเปิดตัว Application Major Cineplex โฉมใหม่ทั้งหมด ด้วยการนำบริการที่มีอยู่ในเครือ MAJOR มารวมไว้ที่แอปพลิเคชันเดียว และมีความหลากหลายในการบริการทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่บริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการขายผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นในปี 64 เพิ่มเป็น 20% จากปีก่อนที่ 10%
โดยจะนำป๊อปคอร์นเข้ามาขายผ่านแอปพลิเคชันด้วย ซึ่งปัจจุบันยอดขายเติบโตค่อนข้างมาก จากการจัดโปรโมชั่นร่วมกับพาร์ทเนอร์ทางออนไลน์เดลิเวอร์ลี่ ได้แก่ แกร๊บ ฟู้ดแพนด้า ไลน์แมน รวมถึงการนำป๊อปคอร์นไปจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สร้างยอดขายเพิ่มเข้ามาเพิ่มเติม
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน