WHAUP มั่นใจรักษา EBITDA Margin ปี 64 ระดับ 50% ปักธงกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 670 MW

ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท …


ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP นำเสนอข้อมูลในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ในส่วนของสาธารณูปโภค มีการเติบโตขึ้นตามลำดับ โดยในส่วนของธุรกิจน้ำ มียอดขายและยอดบริหารจัดการน้ำอยู่ที่ระดับ 114 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปี 2562 อยู่ที่ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ยากลำบากและมีความท้าทาย ทั้งในเรื่องภัยแล้ง รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำต่างๆลดลง อย่างไรก็ดี บริษัทได้รับยอดขายจากธุรกิจใหม่ที่บริษัทพัฒนาเพิ่มเติมเข้ามา ได้แก่ น้ำรีเคลม และน้ำดีมิน โดยเป็นการนำน้ำเสียที่บำบัดแล้ว นำกลับมาผ่านกระบวนการ Process ใหม่ เป็นน้ำมีมูลค่าสูง ส่งผลให้บริษัทมียอดขายที่เพิ่มเติมเข้ามา และมียอดขายที่มาจากน้ำประปาที่บริษัทได้มีการไปร่วมลงทุนที่ประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ธุรกิจสาธารณูปโภค มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า บริษัท มีการเติบโตขึ้นอีก 31 เมกะวัตต์ (MW) จากปี 2562 อยู่ที่ 559 MWeq เติบโต 31 MW มาอยู่ที่ 590 MWeq ในปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักมาจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่ทยอยดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)

สำหรับผลประกอบการประจำปี 2563 บริษัทฯมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 2,599 ล้านบาท ลดลง 25% จากปี 2562 และกำไรจากการดำเนินงานปกติ (Normalized Net Income) ซึ่งเป็นดัชนีหลักในการสะท้อนผลการดำเนินงานจำนวน 764 ล้านบาท ลดลง  56% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One เนื่องจากอัตราค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลงตามสัญญา

รวมถึงภาวะภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 บริษัทฯ เดินหน้ากำหนดเป้าหมายการขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคทั้งภายในและนอกประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งงบลงทุน 5 ปี (2564 – 2568) ไว้ที่ 12,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติปี 2564 จะเติบโต 25% รวมถึงสามารถรักษาอัตรากำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคาดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA Margin) ให้อยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50%

ขณะที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้าในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรทางบัญชีจากโรงไฟฟ้า Gheco-One เนื่องจากอัตราค่าความพร้อมจ่ายที่ลดลงตามสัญญา อัตราค่าเงินบาทที่แข็ง และราคาถ่านหินที่ลดลง ในขณะที่โรงไฟฟ้าในกลุ่ม SPP ยังมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจาก Covid-19 แต่ผลประกอบการในครึ่งปีหลังแสดงการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น โดยส่วนแบ่งกำไรปกติเติบโตขึ้นจากครึ่งปีแรก 28%  รวมถึงบริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) ที่ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา

ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2563 บริษัทฯ มียอดสะสมของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเท่ากับ 51 เมกะวัตต์ และบริษัทฯ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้วกว่า 40 เมกะวัตต์

ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าการขยายธุรกิจด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในแบบที่ติดตั้งบนหลังคา แบบลอยน้ำ และบนพื้นดิน เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เติบโตเพิ่มขึ้น 6 เท่า คิดเป็น 300 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี ควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรและภาคส่วนต่างๆ อาทิเช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการศึกษาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานในรูปแบบต่างๆ  เช่น ตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ Peer to Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น

สำหรับธุรกิจไฟฟ้าในปี 2564 นั้น บริษัทฯยังคงมุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจทั้งภายในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม รวมทั้งเสาะหาและศึกษาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) ต่างๆ โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของ WHAUP ในปี 2564 แตะระดับ 670 เมกะวัตต์

ด้านผลการดำเนินงานในส่วนของธุรกิจสาธารณูปโภค ปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำโดยรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศปี 2563 เท่ากับ 114 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้งและการแพร่ระบาดของ Covid-19

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ลูกค้าเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตและมีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายน้ำในประเทศในไตรมาส 4 ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยปี 2564 บริษัทฯตั้งเป้าปริมาณการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำโดยรวมเพิ่มเป็น 153 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน

นอกจากนี้ บริษัทฯ รับรู้กำไรเพิ่มขึ้นจากการผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) น้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) และการนำน้ำเสียมาบำบัดและใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation)

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตโครงการ Wastewater Reclamation เพิ่มเป็น 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งนอกจากนำน้ำที่ได้จากกระบวนการบำบัดดังกล่าวไปผลิตเป็น Demineralized Water และ Premium Clarified Water ยังสามารถลดต้นทุนการพึ่งพิงน้ำจากแหล่งน้ำอื่น ทั้งนี้ในปี 2564 บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นขยายธุรกิจและเพิ่มการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการลงทุนในประเทศเวียดนาม ในปี 2564 บริษัทฯคาดว่าปริมาณน้ำที่จัดจำหน่ายและบริหารจัดการภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี ตามยอดขายที่ดินของเขตประกอบการฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนงานของบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย (Cua Lo Water Supply) ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในเมืองเหงะ อาน ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 47.3% ก็มีแผนขยายกำลังการผลิตน้ำจาก 4.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในปี 2564

ส่วนบริษัท ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (SDWTP) หนึ่งในผู้ให้บริการน้ำประปาชั้นนำของเมืองฮานอย ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 34% ได้ขยายพื้นที่การจำหน่ายน้ำประปาไปยังเขตอุตสาหกรรมทั้งในบริเวณจังหวัดฮานอย และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดบั๊กนิญ (Bac Ninh) และจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen)  ซึ่งบริษัท ดวง  ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ ได้ดำเนินการขยายท่อประปาเพื่อให้บริการน้ำประปาแก่ลูกค้าทั้งสามจังหวัด และตั้งเป้ายอดจำหน่ายน้ำในปี 2564 ที่ 76 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริษัทฯมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลรวมสำหรับผลประกอบการปี 2563 ที่ 0.2525 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับเงินปันผลที่จ่ายของปีก่อน โดยเป็นเงินปันผลระหว่างกาลที่ได้จ่ายให้ผู้ถือหุ้นไปแล้วจำนวน 0.0925 บาทต่อหุ้น และเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.16 บาทต่อหุ้น โดยจะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อรับเงินปันผล (Recorded Date) ในวันที่ 28 เมษายน 2564 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ตามลำดับ

Back to top button