“บลจ.ไทยพาณิชย์” เปิดโผ 3 กองทุน จ่อปันผล 24 มี.ค.นี้ ชูเรทติ้ง “มอร์นิ่งสตาร์” 4-5 ดาว

"บลจ.ไทยพาณิชย์" เปิดโผ 3 กองทุน จ่อปันผล 24 มี.ค.นี้ ชูเรทติ้ง "มอร์นิ่งสตาร์" 4-5 ดาว


นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมจ่ายเงินปันผลจำนวน 3 กองทุนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมกันในวันที่ 24 มีนาคม 2564 นี้ ประกอบด้วย

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นอินเดีย (SCBINDIA) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มี.ค.2563 – 28 ก.พ. 2564 กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.1509 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 9 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 1.0592 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2558) มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ iShares India 50 ETF ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ประเทศสหรัฐฯ กองทุนหลักบริหารโดย BlackRock และมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อินเดีย (CNXNIFTY) เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี CNXNIFTY โดยกองทุน SCBINDIA จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund India Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564)

สำหรับอีก 2 กองทุน งวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ก.ย. 2563 – 28 ก.พ. 2564 ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCBGHC) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.2006 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 6 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 0.9438 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558) กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ Janus Henderson Global Life Sciences Fund (กองทุนหลัก)

โดยเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) ปัจจุบันกองทุนหลักมีจำนวนหลักทรัพย์ในพอร์ตประมาณ 70 – 100 ตัว กระจายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยที่เกี่ยวข้องในหลากหลายมูลค่าตลาด เช่น ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ยาและเภสัชกรรม บริการด้านสาธารณสุข และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ กองทุน SCBGHC จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Global Health Care ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564)

อีกทั้ง กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ สมาร์ทแพลน 3 (SCBSMART3) กำหนดจ่ายปันผลในอัตรา 0.1574 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 7 รวมจ่ายปันผลแล้วทั้งสิ้น 1.7238 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ วันที่ 26 ก.ย. 2555) กองทุนมีการจัดสรรสินทรัพย์โดยควบคุมมูลค่าความเสี่ยง (Value-at-Risk หรือ VaR) ให้อยู่ในกรอบที่กำหนด ประมาณ -10% ต่อปี มีนโยบายลงทุนในตราสารที่หลากหลาย อาทิ ตราสารหนี้ หุ้น เงินฝาก กองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

โดยกองทุนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 34% รวมทั้งยังมีการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 35% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง โดยกองทุน SCBSMART3 จัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Conservative Allocation ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564)

สำหรับภาพรวมตลาดหุ้นอินเดียตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/63 จนถึงปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 โดยดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการจราจร หรือตัวเลขการจำหน่ายรถยนต์ที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในอินเดียได้ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในอินเดียได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก จากเดิมที่เพิ่มขึ้นวันละประมาณ 9 หมื่นราย เหลือเพียงวันละประมาณ 2 หมื่นราย

โดยการปรับลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่อินเดียได้เริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งวัคซีนหลักที่ถูกแจกจ่ายในปัจจุบันเป็นของ Oxford และ AstraZeneca ในขณะที่วัคซีน Covanix ของอินเดียนั้นยังคงอยู่ในขั้นตอนที่ 3 ของการพัฒนา ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียตั้งเป้าที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนจำนวน 3 ร้อยล้านคนจาก 1.3 พันล้านคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 23 ของจำนวนประชากรภายในเดือน ก.ค. 2564

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นอินเดียในระยะถัดไปคาดว่า จะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่กดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดได้ นักลงทุนจึงควรจับตาแนวโน้มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาดังกล่าวในระยะถัดไป

สำหรับภาพรวมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ทั่วโลกในปี 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่การลงทุนในตลาดหุ้นโลกรวมถึงอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์เผชิญความผันผวนอย่างหนักภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจากหลายประเทศต่างก็ผนึกกำลังกับรัฐบาลทั่วโลกเร่งออกนโยบายเพื่อต่อสู้กับวิกฤติในครั้งนี้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวล ส่งผลให้ราคาหุ้นในอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ปรับตัวดีขึ้น

อีกทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากข่าวดีเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 อีกด้วย ถึงแม้ว่า ประเด็นการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ท่ามกลางการอัดฉีดสภาพคล่อง อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญความผันผวนได้ในระยะสั้น แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาวนั้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ยังคงได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นและความเจริญที่ขยายตัวทั่วโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนทำการลงทุน

Back to top button