CHOW ปิดซิลลิ่ง! จับตา Q1 บันทึก 4 พันล้าน ขายโซลาร์ญี่ปุ่น
CHOW ปิดซิลลิ่ง! จับตา Q1 บันทึก 4 พันล้าน ขายโซลาร์ญี่ปุ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW ปิดวันนี้(30มี.ค.64) อยู่ที่ระดับ 5.00 บาท บวก 1.14 บาท หรือ 29.53% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 46.90 ล้านบาท ราคาหุ้นปิดซิลลิ่งของวันที่ระดับ 5.00 บาท
โดยก่อหน้านี้นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOW เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในประเทศญี่ปุ่น 9 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 64.21 เมกะวัตต์ (MW) ให้กับกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศญี่ปุ่น มูลค่ารายการทั้งหมดไม่น้อยกว่า 14,000 ล้านเยน หรือคิดเป็นมูลค่ารายการทั้งหมดไม่น้อยกว่า 4,114 ล้านบาท
โดยล่าสุดบริษัทได้เซ็นสัญญาซื้อขายแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารส่งมอบ เบื้องต้นบริษัทคาดว่ากระบวนการโอนกรรมสิทธิ์โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะเสร็จภายในไตรมาส 1/2564 และจะบันทึกเป็นกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวทันที
หากไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง เช่น ความเข้มข้นของภาวะฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย
- โครงการ อิวากิ กำลังการผลิต 26.68 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการบริษัทย่อยคือ บริษัท เมกะ โซลาร์ พาร์ค 3 จำกัด มีที่ดิน 179 แปลง เนื้อที่รวม 757,694 ตารางเมตร (ตร.ม.),
- โครงการ ฮามาดะ 1 กำลังการผลิต 11 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ฮามาดะ เมกะ โซลาร์ ที่ดิน 169 แปลง พื้นที่รวม 250,203 ตารางเมตร
- โครงการ ฮามาดะ 2 กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ซึซึ ฮามาดะ โซลาร์ จำกัด มีที่ดินจำนวน 310 แปลง เนื้อที่รวม 182,616 ตารางเมตร,
- โครงการอาโอโมริ กำลังการผลิต 7.21 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ซัน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด,
- โครงการนิฮออนมัตศึ กำลังการผลิต 1.48 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อย กู๊ด โซลาร์ จำกัด,
- โครงการโกเรียว กำลังการผลิต 1.50 เมกะวัตต์
- โครงการชิบูชิ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์,
- โครงการโนกาดะ กำลังการผลิต 1.11 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อย คือ บริษัท ซัน พาร์ทเนอร์ เจแปน จำกัด มีที่ดิน 6 แปลง พื้นที่รวม 17,497 ตารางเมตร และ 9.โครงการ ไซโดะ กำลังการผลิต 2.23 เมกะวัตต์ มีที่ดิน 18 แปลง เนื้อที่รวม 50,464 ตารางเมตร
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2564 ของบริษัทน่าจะมีโอกาสพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิได้ ซึ่งจะมาจากการขายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น 9 โครงการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนรายได้ในปี 2564 จะมาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กเป็นหลัก และส่วนเสริมมาจากรายได้จากธุรกิจพลังงาน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังบริษัทขายโรงไฟฟ้า9โครงการดังกล่าวแล้ว บริษัทจะยังคงมีธุรกิจโรงไฟฟ้าเหลืออยู่ ขนาดกำลังการผลิตรวม 70 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ดำเนินการภายในประเทศไทย ขนาดกำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือขนาดกำลังการผลิต 63 เมกะวัตต์ ดำเนินการในต่างประเทศ
“โครงการของธุรกิจพลังงานส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในแง่ของการจำกัดการเดินทาง โดยปี 2564 เบื้องต้นเราจึงเน้นการลงทุนในประเทศมากขึ้น ส่วนต่างประเทศยังต้องรอให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น สำหรับแผนการลงทุนที่ชัดเจนในปี 2564 ยังต้องรอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) อนุมัติอีกที ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดวันประชุมที่ชัดเจน” นายอนาวิล กล่าว